นายกฯ มอบนโยบายทูต-กงสุลประเทศเพื่อนบ้านร่วมพัฒนาภูมิภาคให้เติบโตไปพร้อมกัน

ข่าวการเมือง Friday August 10, 2018 12:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ประจำประเทศเพื่อนบ้าน กับผู้ว่าราชการจังหวัดชายแดนแบบเต็มคณะ ในหัวข้อ "ความร่วมมือเพื่อพัฒนาชายแดนที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน" จัดโดยกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการการทำงาน และเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายไทยนิยม ยั่งยืน

โดยเน้นการหารือเพื่อพัฒนาคุณภาพจังหวัดชายแดนและเสริมความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะรับฟังข้อเสนอของเอกอัครราชทูตไทยประจำประเทศเพื่อนบ้าน 5 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา, ลาว, เมียนมา, เวียดนาม และมาเลเซีย รวมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดตามแนวชายแดน จำนวน 32 จังหวัด โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี, นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เข้าร่วมประชุม

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การดำเนินงานทุกอย่างจะต้องมีความไว้เนื้อเชื่อใจ และมีผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเท่าเทียม ลดความหวาดระแวงระหว่างกัน แล้วจับมืออย่างอบอุ่นเดินไปด้วยกัน ที่สำคัญการจับมือจะต้องมีความจริงใจ ไม่ใช้สื่อโซเซียลมีเดียมาโจมตีกัน ดังนั้นเอกอัครราชทูตและกงสุลใหญ่ และผู้ว่าราชการจังหวัดตามแนวชายแดนจะต้องเรียนรู้ปัญหาแต่ละประเทศ เพราะสมัยนี้เปลี่ยนจากสนามรบเป็นสนามการค้าแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดคือ เมื่อรู้เขาและรู้เราแล้ว ต้องหาความต้องการให้ตรงกันให้ได้ รวมถึงถ่ายทอดแนวทางการทำงานของประเทศไทยไปยังหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้ได้รับทราบด้วย เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้ถือว่าประเทศไทยมีความสัมพันธ์กับต่างประเทศในระดับดีเยี่ยม ซึ่งคือการทำงานของประเทศไทย ขออย่าเอาประเด็นอื่นๆ มาเกี่ยวข้องกัน แต่ต้องทำความเข้าใจการค้า การลงทุนต่างๆ ที่ไทยกับต่างประเทศจะพัฒนาเติบโตไปด้วยกัน ซึ่งจะออกมาในรูปแบบทวิภาคีและพหุภาคี รวมถึงทำความเข้าใจหลักการบริหารและการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ ที่ดำเนินการปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่อง

พร้อมกันนี้ยังได้ให้แนวทางเรื่องการทำงานอย่างไร้รอยต่อ ทั้งในด้านของการเชื่อมโยงคมนาคม การท่องเที่ยว โดยจะต้องปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการต่างๆ ซึ่งแต่ละหน่วยงานย่อมรู้ดีว่ายังมีข้อติดขัดใดบ้างที่เป็นการขัดขวางการปฏิรูปประเทศ จึงขอให้หน่วยงานเสนอการแก้ไขขึ้นมายังรัฐบาล เพื่อที่จะได้ดำเนินการในเรื่องใหม่ๆ ขึ้นมา

นายกรัฐมนตรี ยังฝากให้ติดตามการเปลี่ยนแปลงผู้นำรุ่นใหม่ในหลายประเทศ โดยอยากให้มีการศึกษาแนวคิดใหม่ๆ ของแต่ละประเทศ ที่ส่วนใหญ่มาจากประเทศตะวันตกที่มีประชาธิปไตย รวมถึงประชาธิปไตยแบบสังคมนิยม เพื่อนำไปสู่การเจรจาและข้อตกลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาแล้ว หรือกำลังจะเกิดขึ้นใหม่ ต้องติดตามและแก้ไขปรับปรุงให้ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งบางประเทศมีข้อตกลงจำนวนมาก หากล้าสมัยก็จะต้องยกเลิก ซึ่งต้องหาแนวทางการพูดคุยกับประเทศเหล่านี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจน

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ฝากให้ไปพิจารณางบประชาสัมพันธ์เพื่อสังคม หรือ CSR ที่จะต้องไม่ซ้ำซ้อนและใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า โดยอยากให้ส่วนงานของรัฐบาลไปเติมเต็มภาคเอกชนในรูปแบบประชารัฐ และอยากให้คำนึงถึงรูปแบบการทำงานและความเป็นอัตลักษณ์ของอาเซียนที่ทำให้อยู่รอดได้มาจนถึงวันนี้ ซึ่งอาเซียนมีวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนชาติตะวันตก ที่แม้เปลี่ยนรัฐบาล นโยบายบางอย่างอาจปรับเปลี่ยนไม่มาก จึงอยากให้นำมาศึกษา

สิ่งสำคัญที่สุดคือนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลนี้ คือทำอย่างไรประเทศไทยจะนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่อาเซียนอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่คำกล่าวอ้าง โดยจะต้องสร้างความเข้มแข็งไปด้วยกัน และให้ประเทศไทยเป็นผู้นำแห่งอาเซียนให้ได้ ขณะที่ในปีหน้าไทยจะเป็นประธานและเจ้าภาพการจัดประชุมสุดยอดอาเซียนจะต้องมีการชี้แจงว่าสิ่งไหนเป็นอุปสรรคก็ต้องหารือร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหา โดยต้องทำในวันนี้ และการประชุมจะต้องถูกจัดขึ้นและขออย่าให้เกิดปัญหาเหมือนการจัดประชุมที่ไทยเป็นเจ้าภาพที่ผ่านมาที่ไม่สามารถจัดการประชุมได้

พร้อมย้ำว่า การทำงานของรัฐบาลในเรื่องต่างประเทศทุกครั้งจะมีการประชุมและนำภาคเอกชนร่วมเดินทางไปด้วยทุกครั้ง เพื่อนำข้อเสนอและอุปสรรคในการลงทุนของแต่ละประเทศไปนำเสนอให้กับผู้นำได้รับทราบ พร้อมชี้แจงอุปสรรคในการลงทุน ซึ่งบางครั้งต่างประเทศไม่ได้รับทราบปัญหา โดยเอกอัครราชทูตและเจ้าหน้าที่จะต้องมีการเขียนหนังสืออย่างรอบคอบและเหมาะสม พร้อมที่จะนำเสนอต่างประเทศ

นายกรัฐมนตรี ยังฝากให้แต่ละหน่วยงานมีบิ๊กดาต้า หรือฐานข้อมูลเป็นของตนเอง ซึ่งจะต้องเป็นข้อมูลที่แท้จริง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านตัวเลข หรือยอด GDP ทั้งหมด และนำมาจัดเป็นกลุ่ม เพื่อที่จะได้มีข้อมูลและตัวเลขที่ชัดเจน นำไปสู่การขับเคลื่อนและปฏิบัติได้จริง

นายกรัฐมนตรี ฝากให้ทุกคนใช้กลไกใหม่ๆ ในการทำงาน เพื่อทำให้ประเทศไทยมีที่ยืนในเวทีโลกและอยู่ในจุดที่ดีขึ้น การตรวจสอบจากองค์กรต่างประเทศก็ต้องดีขึ้นเช่นกัน เพื่อยกระดับประเทศไทย ขณะเดียวกันการทำงานจะต้องมีแบบแผนปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ รูปแบบประชารัฐ และไทยนิยม ยั่งยืน พร้อมชี้แจงทำความเข้าใจว่าทุกอย่างไม่ใช่ประชานิยมและการต่อท่ออำนาจแน่นอนแต่อย่างใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ