"วิษณุ" แจงพรรคการเมืองหาสมาชิกได้หลังปลดล็อกแต่ยังหาเสียงไม่ได้ ยันรัฐบาลปฎิรูปการเมืองแล้ว

ข่าวการเมือง Thursday August 30, 2018 13:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ระบุว่า การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เตรียมคลายล็อกให้พรรคการเมืองหาสมาชิกได้แต่ห้ามหาเสียง ทั้งที่การหาสมาชิกต้องอาศัยการนำเสนอนโยบาย ซึ่งทำให้คาบเกี่ยวกับการหาเสียง นายวิษณุ กล่าวว่า การหาเสียงกับการหาสมาชิกเป็นคนละเรื่องกัน การหาเสียงคือพูดกับประชาชนเพื่อให้มาเลือกตัวเอง แต่การหาสมาชิกนั้นไม่จำเป็นต้องไปหา เพราะสามารถใช้วิธีอื่นได้ แต่ตนไม่อยากชี้โพรงให้กระรอก

"ก็ต้องถามว่าแล้วที่หากันมาได้แล้วนั้น คุณไปหากันอย่างไร ทั้งที่เขาไม่ให้หาเสียง ก็หาอย่างนั้นล่ะ แต่การเปิดเวทีปราศรัยพูดกับประชาชนนั้นไม่สามารถทำได้ เพราะอาจมีการแทรกซ้อนตามที่คสช.กังวล"นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ ยืนยันว่า การประชุมพรรคการเมืองเพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรค ทำได้ทันทีหลังมีการคลายล็อก เพราะบางพรรคจำเป็นต้องรีบเลือกหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารใหม่ แก้ข้อบังคับพรรค หรือตั้งสาขา ซึ่งทั้งหมดสามารถทำได้เลยไม่จำเป็นต้องรอรวมถึงการคัดเลือกผู้สมัคร แต่ที่ตนเองระบุให้ทำช่วง 30 วันสุดท้ายนั้นเป็นการคาดการณ์ไว้ให้ เพื่อให้เวลาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แบ่งเขตการเลือกตั้ง 60 วัน แต่จะทำก่อนก็ได้ ส่วนการลงพื้นที่ไปตามหมู่บ้านสามารถทำได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า อย่าให้ตนเองพูดดีกว่าว่าสามารถทำอะไรได้หรือไม่ได้บ้าง เพราะคำตอบของตนเองอาจไม่ตรงกับเจ้าหน้าที่ จึงควรไปปรึกษาพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะดีกว่า

นายวิษณุ กล่าวถึงข้อสังเกตุของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีตประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนวิธีการทำไพรมารีโหวตของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เนื่องจากแนวคิดปฏิรูปเปลี่ยนแปลงไปว่า ตนเองรับทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และทาง พล.อ.สมเจตน์ ได้ส่งบันทึกมายังรัฐบาลแล้ว และไม่ขอไปต่อปากต่อคำ แต่การปฏิรูปการเมืองเกิดขึ้นตามมาตรา 45 ของรัฐธรรมนูญที่ให้สมาชิกพรรคซึ่งเป็นผู้สมัครเป็นสมาชิก จ่ายค่าสมัคร และพรรคตอบรับมีส่วนร่วมในการเลือกผู้สมัคร จากเดิมที่ก่อนหน้านี้กรรมการบริหารพรรคเป็นผู้คัดเลือกผู้สมัครเอง แค่นี้ถือเป็นการปฏิรูปแล้ว เพียงแต่ที่ สนช.ร่างมาไปไกลถึงขั้นมีไพรมารีโหวต และ คสช.ก็ไม่ได้ปฏิเสธไพรมารีโหวต แต่คิดว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่การเลือกตั้งครั้งแรกน่าจะใช้วิธีอื่นที่ง่ายกว่า แล้วการเลือกตั้งครั้งต่อไปถึงใช้ไพรมารีโหวต ซึ่ง คสช.ยังไม่ได้ชี้ขาด 100% โดยขอดูรายละเอียดเพิ่มเติมก่อน แต่ถ้ายึดตามแนวทางที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กำหนดก็ถือว่าปฏิรูปแล้ว เพราะพัฒนาจากการให้กรรมการบริหารพรรคเป็นผู้เลือก ซึ่งใช้กันมากว่า 80 ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ