(เพิ่มเติม) "จาตุรนต์" มองคสช.คลายล็อคการเมืองบางประเด็นเอื้อพรรคใหม่ เชื่อไพรมารีโหวตทำพรรคเก่า-พรรคใหญ่ป่วน

ข่าวการเมือง Thursday August 30, 2018 17:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมคลายล็อคทางการเมืองเพื่อให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมบางเรื่องได้ว่า แม้จะมีการคลายล็อคแต่ก็เป็นเพียงบางเรื่อง ซึ่งพรรคการเมืองต่างๆ ยังไม่สามารถดำเนินกิจกรรมที่ควรจะทำได้ เช่น การลงพื้นที่เพื่อรับฟังความเห็นจากประชาชนและสมาชิกพรรคในเรื่องการจัดทำนโยบายของพรรค ซึ่งไม่ใช่เป็นการลงไปหาเสียง ซึ่งการสั่งห้ามชุมนุมเกิน 5 คน แต่ให้เดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้งโดยไม่ได้สื่อสารกับประชาชนนั้น จะทำให้การเลือกตั้งเสียหาย ประชาชนจะเสียประโยชน์

"ดูเหมือนว่า คสช.จะเน้นเฉพาะเรื่องที่จำเป็นให้กับพรรคการเมืองที่ตั้งใหม่บางพรรคเท่านั้น คำนึงแต่ประโยชน์ของ คสช. ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ" นายจาตุรนต์ กล่าว

สำหรับการทำไพรมารีโหวตที่ยังไม่ได้ข้อสรุปนั้น นายจาตุรนต์ มองว่า การทำไพรมารีโหวตดูเหมือนจะเป็นความตั้งใจดี เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคสามารถคัดเลือกผู้สมัครได้ แต่การวางระบบที่ซับซ้อนและไม่ตรงตามเจตนารมณ์ที่แท้จริง ส่งผลทำให้การคัดเลือกสมาชิกพรรคเกิดความปั่นป่วน และดูเหมือนตั้งใจให้เกิดปัญหากับพรรคการเมืองเดิมหรือพรรคขนาดใหญ่

ส่วนการแก้ปัญหาเรื่องการทำไพรมารีโหวตในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยให้กลับไปใช้ตามแนวทางคล้ายกับที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เสนอนั้น นายจาตุรนต์ มองว่า อาจเป็นเพราะ คสช.เป็นห่วงพรรคการเมืองที่ตั้งใหม่ว่าจะได้รับผลกระทบ และไม่ได้แก้เพื่อประโยชน์โดยรวม

นายจาตุรนต์ ยังกล่าวถึงกระแสข่าวที่ คสช.จะจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อลงเลือกตั้งในครั้งนี้ด้วยว่า การที่ คสช. ซึ่งมาจากการยึดอำนาจจะกลายมาเป็นผู้เล่นและกำหนดกติกาเอง ย่อมส่งผลให้การเลือกตั้งไม่เป็นธรรม เพราะอำนาจเด็ดขาดอยู่ในมือของผู้มีอำนาจเสียเอง สิ่งที่จะแก้ปัญหาได้ คือ คสช.ต้องลดการใช้อำนาจหรือเลิกใช้อำนาจที่มีอยู่ และเชื่อว่าไม่มีทางที่จะมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้อีก เพราะได้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน ซึ่งคงจะหาเหตุมาเลื่อนการเลือกตั้งไม่ได้อีกแล้ว

สำหรับการเลือกตั้งตามโรดแมป คสช. คงไม่เป็นไปตามความคาดหวัง เพราะหลังจากกฎหมายลูกออกมาบังคับใช้แล้วในเดือน ก.ย.61 ยังมีเวลาอีก 150 วันที่จะจัดการเลือกตั้ง แต่หากต้องการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจริงๆ ก็สามารถทำได้โดยใช้มาตรา 44 หรือแก้ไขรัฐธรรมนูญในการเลื่อนเลือกตั้ง แต่เรื่องนี้ไม่ง่ายสำหรับ คสช.เพราะเสี่ยงที่จะถูกประชาชนวิพากษ์วิจารณ์

"สิ่งที่รู้สึกคือ คสช.ต้องการอยู่ในอำนาจให้นานที่สุด และต้องการเวลาในการเตรียมตัว เพื่อให้กลับมามีอำนาจอีกครั้งหลังการเลือกตั้ง" นายจาตุรนต์ กล่าว

พร้อมเห็นว่า การเลือกตั้งควรเกิดขึ้นเมื่อ 4 ปีที่แล้ว เพราะหากปล่อยให้รัฐบาลทหารอยู่ในอำนาจนานๆ จะทำให้ประเทศชาติเสียโอกาส การลงทุนจากต่างประเทศไม่มากเท่าที่ควร เพราะไม่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจใดๆ อีกทั้งที่ผ่านมาตั้งแต่จัดตั้งรัฐบาลยังไม่มีการปฏิรูปใดๆ เกิดขึ้น ทั้งการปฏิรูปการเมือง การปฏิรูปบ้านเมือง ไม่มีใครบอกได้เลยว่ามีการปฏิรูปส่วนไหนบ้าง

แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า คสช. พยายามทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลงด้วยการใช้อำนาจทางกฎหมายบางอย่าง ทำให้นักการเมืองไม่สามารถขยับตัวทำอะไรได้มากนัก ไม่สามารถทำกิจกรรมใดๆ กับประชาชน มีความพยายามทำให้การเลือกตั้งไร้ความหมาย

"เห็นได้ชัดว่าเราอยู่ภายใต้ระบบที่มีคนกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในประเทศนี้ ที่อาจจะพยายามจะรักษาอำนาจไว้ที่กลุ่มของตัวเอง" นายจาตุรนต์ กล่าว

สำหรับนโยบายของพรรคเพื่อไทยนั้น จะมีนโยบายเศรษฐกิจเป็นหลัก และเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องการการเติบโตและความมั่นคง เป็นสิ่งที่ประชาชนคาดหวังพอๆ กับเรื่องการกระจายรายได้ เราควรให้ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน มีโอกาสสร้างธุรกิจ

สำหรับจุดยืนของพรรคการเมืองนั้นต้องทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ และพรรคการเมืองควรจะร่วมมือกันใน 4 ประเด็นที่ตรงข้ามกับแผนยุทธศาสตร์ของ คสช.เป็นสิ่งที่พรรคการเมืองควรรร่วมมือกันเร็วที่สุดยิ่งดี คือ 1.หาทางทำให้ คสช.ยกเลิกกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ล็อคพรรคการเมืองไว้ 2.ร่วมกันผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งเสรี 3.หาทางป้องกันไม่ให้ คสช.ตั้งรัฐบาล และ 4.ร่วมกันเรียกร้องไม่ให้มีการแก้ไขกฎหมายที่เอื้อให้ คสช.กลับมาเป็นรัฐบาล


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ