ครป.แถลงการณ์ยอมรับผลเลือกตั้ง แต่ค้านนิรโทษกรรม 111 อดีต กก.บห.ทรท.

ข่าวการเมือง Monday December 24, 2007 16:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.) ออกแถลงการณ์ยอมรับผลการเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศเมื่อวันที่ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นการตัดสินใจของประชาชนส่วนใหญ่ตามวิถีทางประชาธิปไตย โดยพร้อมทำหน้าที่ตรวจสอบนอกสภาไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล และคัดค้านการนิรโทษกรรม 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย
"ครป.พร้อมยอมรับและเคารพผลการเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นการตัดสินใจของประชาชนและเป็นไปตามกรอบรัฐธรรมนูญและวิถีทางอารยะประชาธิปไตย หลังจากนี้ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาลหรือจะได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ก็ตามถือเป็นความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายต้องเคารพ" นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการ ครป.ระบุในแถลงการณ์
ในส่วนของ ครป.จะผลักดันและเดินหน้าสรรค์สร้างการเมืองภาคประชาชน การเมืองใหม่ที่เอาประชาชนเป็นศูนย์กลางและมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของประเทศ ไม่ว่าใครจะเป็นรัฐบาล ครป.ก็จะทำหน้าที่ตรวจสอบนอกสภา โดยใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อให้รัฐบาลใหม่ทำงานเพื่อคนทั้งประเทศและคนไทยทั้ง 63 ล้านคนอย่างแท้จริง
สำหรับการจัดตั้งรัฐบาลนั้นถือเป็นความชอบธรรมของพรรคพลังประชาชน(พปช.) ที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก่อนพรรคอื่น แต่เนื่องจากจำนวนเสียงไม่เกินกึ่งหนึ่งผลให้พรรคขนาดกลางและขนาดเล็กกลายเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล ครป.ขอเรียกร้องพรรคการเมืองขนาดเล็กตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาลอย่างมีเงื่อนไข โดยยึดเอาผลประโยชนของประชาชนเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่ทำเพื่อคนคนเดียว หรือคำนึงถึงประโยชน์ของพรรคเท่านั้น
เลขาธิการ ครป.กล่าวว่า ครป.จะยืนยันคัดค้านรัฐบาลใหม่หากดำเนินนโยบายฟอกความผิด และนิรโทษกรรม พตท.ทักษิณ ชินวัตร และอดีต 111 กรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย หรือการยุบคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(คตส.)
"การยุบ คตส.จะทำให้กระบวนการยุติธรรมขาดความน่าเชื่อถือและกลายเป็นชนวนความแตกแยกในสังคม ขณะเดียวกัน ครป.ก็พร้อมสนับสนุนและให้ความร่วมมือกับรัฐบาลใหม่ หากรัฐบาลจริงใจเอาปัญหาของประเทศเป็นตัวตั้งและมุ่งมั่นแก้ปัญหาของส่วนรวมเป็นหลัก" นายสุริยะใส กล่าว
สำหรับผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า พื้นฐานมวลชนของอดีตพันธมิตรประชาธิปไตยทั่วประเทศได้แสดงจุดยืนต่อต้านระบอบทักษิณอย่างเหนียวแน่น ซึ่งหากนับรวมคะแนนจาก 3 กลุ่มการเมืองที่มีปัญหากับระบอบทักษิณ ได้แก่ กลุ่มพรรคฝ่ายค้านเดิม(พรรคประชาธิปัตย์และพรรคชาติไทย), กลุ่มพรรคที่แตกตัวมาจากพรรคไทยรักไทยเดิม(พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา) และกลุ่มพรรคที่ขึ้นเวทีกับพันธมิตรฯ(พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคประชาราช)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ