นายกฯ ย้ำปลดล็อคการเมืองทำตามขั้นตอนกม. มอบ"วิษณุ"แจงรายละเอียดขั้นตอน

ข่าวการเมือง Tuesday November 6, 2018 17:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการปลดล็อคพรรคการเมืองให้สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองว่า ขณะนี้จะมีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งออกมาแล้ว ซึ่งทุกอย่างจะดำเนินการไปตามไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ไม่เกี่ยวกับ คสช. โดยการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายจะเป็นอย่างไรนั้น ได้มอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงรายละเอียดก่อนการเลือกตั้งให้สื่อมวลชนรับทราบต่อไป

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ไม่ต้องกังวล เป็นเรื่องตามกฎหมายทุกประการ ต้องไปไล่ดูว่ากฎหมายออกมาครบหรือยัง และต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง หลังจากนั้นจะมีผลภายในระยะเวลากี่วัน

ส่วนกรณีมีปฎิทินภาพของนายทักษิณ ชินวัตร และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นหน้าที่ของฝ่ายมั่นคงที่จะไปตรวจสอบ เพื่อดูว่าจะกระทบต่อความมั่นคงกับส่วนใดหรือเป็นเรื่องคดีความเพิ่มเติมหรือไม่ เพราะสิ่งใดที่สร้างความเกลียดชังให้เพิ่มขึ้นในสังคมต้องไปตรวจสอบว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ โดยฝ่ายความมั่นคงต้องไปตรวจสอบขยายผลเพิ่มเติม

สำหรับกรณีที่นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุมีความพร้อมเล่นการเมืองว่า การลงเล่นการเมืองของบุคคลใดนั้นไม่ใช่เรื่องของตนเอง แต่ขอให้ไปดำเนินการสมัครให้ถูกต้อง

นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการใช้งบประมาณของกองทุนต่าง ๆ โดยเฉพาะกองทุนหมู่บ้าน และโครงการไทยนิยมยั่งยืนว่า จากการตรวจสอบของกระทรวงมหาดไทยยังไม่พบปัญหาใด ๆ ทั้งสิ้น และไม่ต้องการให้นำเรื่องดังกล่าวมาพาดพิงซึ่งกันและกันจนทำให้เกิดความเสียหาย โดยการดำเนินการทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย

ส่วนผลการประเมินโครงการไทยนิยมยั่งยืน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง และกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ตรวจสอบพร้อมกับประเมินผลการทำโครงการ ซึ่งจากการตรวจสอบยังไม่พบสิ่งที่ปกติ

พร้อมกล่าวย้ำว่า โครงการดังกล่าว รัฐบาลไม่ได้ทำเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมือง และไม่ใช่ระบบประชานิยม ขออย่านำไปกล่าวอ้าง ซึ่งการใช้งบประมาณในการทำโครงการ เป็นความต้องการของประชาชนผ่านการทำประชาคมในหมู่บ้าน

นอกจากนี้ ยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนของการศึกษาหาแนวทางกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถึงกรณีที่ ป.ป.ช.ขยายตำแหน่งที่จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินครอบคลุมถึงตำแหน่งกรรมการสภามหาวิทยาลัย และบุคคลากรในสถาบันอุดมศึกษา ทำให้บรรดากรรมการสภามหาวิทยาลัยเตรียมลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากมองว่ามีบทลงโทษที่รุนแรงหากแจ้งบัญชีทรัพย์สินไม่ถูกต้อง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ