(เพิ่มเติม) "วิษณุ"แถลงไทม์ไลน์ เตรียมประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้งส.ส.ใน ธ.ค.61 คาดได้นายกฯ-ครม.ใหม่กลางปี 62

ข่าวการเมือง Thursday November 8, 2018 16:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเตรียมการของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ครั้งใหม่ว่า เมื่อวันที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา ครม.รับทราบปฏิทินการทำงานเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการทำงานของรัฐบาล ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ โดยไม่เกี่ยวข้องกับที่ คสช.จะนัดหารือกับพรรคการเมือง

สำหรับปฏิทินทางการเมืองหรือ Timeline ภายใต้ตามกรอบเวลาของกฎหมาย ซึ่งอาจมีการขยับเขยื้อนได้แต่ไม่เกินระยะสิ้นสุด โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค.61 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะเริ่มมีผลบังคับใช้ หลังพ้นเวลา 90 วันที่ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เตรียมพร้อมจัดการเลือกตั้ง ซึ่งจะต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน หรือ ภายในวันที่ 9 พ.ค.62

ทั้งนี้ ภายในเดือน ธ.ค.61 คาดว่าจะออกประกาศ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่ง กกต.จะยกร่างฯ เสนอให้ ครม. โดยเมื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แล้วจะเริ่มมีผลบังคับใช้ทันที จากนั้น กกต.จะออกประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง, กำหนดวันรับสมัครเลือกตั้ง ภายใน 5 วัน ซึ่งจะสอดคล้องกับการปลดล็อคกิจกรรมทางการเมืองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

"ทุกอย่างดำเนินไปตามขั้นตอนของกฎหมาย จะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนไม่ได้ พระราชกฤษฎีกาฯ มีความหมายมาก เพราะจะเริ่มนับค่าใช้จ่ายหาเสียงตั้งแต่บาทแรก

วันที่ 28 ธ.ค.61 จะเป็นวันสุดท้ายที่ สนช.เปิดรับกฎหมายใหม่เพื่อพิจารณา และจะทำงานถึงวันที่ 15 ก.พ.62 หรือ 7 วันก่อนการเลือกตั้ง (หากเลือกตั้งวันที่ 24 ก.พ.62)" นายวิษณุ กล่าว

ในช่วงเวลาที่ กกต.เปิดรับสมัครผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.นั้น พรรคการเมืองจะต้องส่งรายชื่อผู้ที่จะเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีภายในระยะเวลาที่กำหนด

นายวิษณุ กล่าวว่า หากมีการเลือกตั้งมีขึ้นตามปฏิทินการเมืองที่กำหนดไว้ในวันที่ 24 ก.พ.62 ในช่วงเดือน มี.ค.62 จะเป็นขั้นตอนที่ กกต.จะดำเนินการตรวจนับคะแนนปาร์ตี้ลิสต์, การให้ใบเหลือง-ใบแดง, การเลือกตั้งซ่อม แต่ต้องประกาศผลเลือกตั้งภายในวันที่ 24 เม.ย.62 หรือภายใน 60 วันนับจากเลือกตั้ง

จากนั้นในช่วงเดือน พ.ค.62 คาดว่าภายในวันที่ 8 พ.ค.จะมีการเปิดประชุมรัฐสภา หรือภายใน 15 วันนับแต่ประกาศผลเลือกตั้งทั้ง ส.ส.และส.ว.ชุดใหม่ ซึ่งก่อนหน้านั้น 1 วัน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะสิ้นสุดลง ซึ่งเมื่อเปิดประชุมรัฐสภาแล้วจะมีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานวุฒิสภา ต่อจากนั้นจะเป็นขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรี , โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และตั้ง ครม.โดยเมื่อ ครม.ใหม่เข้าปฏิญาณตนแล้ว รัฐบาลเก่า และ คสช.ถือว่าสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่

ในเดือน มิ.ย.62 จะมีกำหนดที่ ครม.ใหม่จะแถลงนโยบาย หรือภายใน 15 วันนับแต่ ครม.ปฏิญาณตน โดยคาดว่าจะมีขึ้นก่อนการประชุมอาเซียนซัมมิทในช่วงวันที่ 22-23 มิ.ย.62

ในส่วนของกระบวนการสรรหา ส.ว. วันที่ 2 ม.ค.62 กกต.จะส่งรายชื่อผู้ผ่านคัดเลือก ส.ว.ให้ คสช., วันที่ 9 ก.พ.62 คณะกรรมการสรรหาฯ ส.ว.ต้องส่งรายชื่อ 400 คน ให้ คสช.คัดเลือกเหลือ 194 คน และภายในวันที่ 27 เม.ย.62 คสช.จะพิจารณา ส.ว.ให้ครบ 250 คน เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ และโปรดเกล้าฯ ตั้ง ส.ว.250 คน

ในเดือน พ.ค.62 ก่อนเสด็จเปิดสภา 1 วัน สนช.จะสิ้นสุดลง และภายในวันที่ 8 พ.ค.62 เสด็จเปิดสภา (ภายใน 15 วันนับแต่ประกาศผลการเลือกตั้ง แสดงว่ามี ส.ส.และ ส.ว.ใหม่เรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นจะเป็นขั้นตอนของที่ประชุมสภาฯ ที่จะดำเนินการคัดเลือกประธานสภาฯ และประธานวุฒิสภา, เลือกนายกรัฐมนตรี, โปรดเกล้าฯ นายกรัฐมนตรี, ตั้ง ครม., เมื่อ ครม.ใหม่ปฏิญาณแล้ว ครม.และ คสช.สิ้นสุดลง แต่ ครม.ใหม่ยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้จนกว่าจะมีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาภายใน 15 วัน

นายวิษณุ กล่าวว่า จากหารือกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้วได้ข้อสรุปว่า สำหรับสถานะของ ครม.ยังคงเป็นไปตามปกติ ยกเว้นใน 4 กรณี คือ 1.นายกรัฐมนตรีลาออก 2.ครม.ทั้งคณะลาออก 3.ยุบสภา และ 4.ครบวาระการทำงาน

ส่วนข้อห้ามของ ครม.รักษาการจนกว่า ครม.ใหม่ถวายสัตย์ปฏิญาณ 4 ประการ คือ 1.เสนอโครงการใหม่ 2.แต่งตั้งโยกย้ายต้องได้รับความเห็นชอบจาก กกต. 3.การอนุมัติงบผูกพัน และ 4.การใช้บุคลากรและทรัพย์สินของทางราชการ

แนวปฏิบัติของ ครม.แบ่งเป็นสองส่วน คือ 1.รัฐมนตรี 4 คนที่มีข่าวเข้าพรรคการเมืองต้องระมัดระวังเรื่องเวลาราชการ, ทรัพย์สินของทางราชการ เช่น รถประจำตำแหน่ง, การใช้บุคลากรของราชการ และการใช้สถานที่ราชการเพื่อประโยชน์ทางการเมือง เนื่องจากได้แสดงตนทางการเมืองไปแล้ว 2.รัฐมนตรีที่เหลือก็ดำเนินการในทำนองเดียวกัน คือ วางตัวเป็นกลาง และไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่ไปให้คุณหรือโทษในทางการเมือง

สำหรับการหาเสียงของพรรคการเมืองนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ต้องรอ กกต.ออกประกาศกำหนดวิธีการหาเสียงเลือกตั้งตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.กำหนดไว้อีกที ดังนั้นถึงแม้ คสช.จะพิจารณาปลดล็อคแล้วก็ตาม แต่พรรคการเมืองยังไม่สามารถดำเนินการหาเสียงได้ แต่ในทางปฏิบัติ กกต.ได้เตรียมการที่จะออกประกาศให้สอดคล้องกับตารางเวลาดังกล่าวแล้ว

ส่วนของ คสช.จะนัดหารือกับพรรคการเมืองเพื่อพิจารณาปลอดล็อคนั้น เนื่องจากนายกรัฐมนตรีติดภารกิจต่างประเทศ คาดว่าน่าจะนัดหารือได้ในช่วงเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งอาจเป็นช่วงหลังวันลอยกระทงก็ได้

"วันเลือกตั้งอาจจะเลื่อนจากวันที่ 24 กุมภาฯ ก็ได้ เพราะ กกต.เป็นคนกำหนด ผมจะเอาหัวไปเป็นประกันไม่ได้" นายวิษณุ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ