(เพิ่มเติม) "อภิสิทธิ์" นำทีมอดีตส.ส.ภาคใต้ปชป. ยื่นหนังสือรัฐบาลบ่ายนี้ จี้แก้ปัญหาราคายาง-ปาล์มตกต่ำเร่งด่วน

ข่าวการเมือง Monday November 12, 2018 14:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พร้อมด้วยทีมงานอดีต ส.ส.ภาคใต้ ร่วมกันแถลงเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาสถานการณ์ราคายางพาราและปาล์มน้ำมันตกต่ำที่สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งทางพรรคได้เรียกร้องต่อรัฐบาลมาตลอดเวลาแต่ไม่ได้รับการตอบสนอง โดยในช่วงบ่ายวันนี้จะยื่นหนังสือถึงรัฐบาลอีกครั้ง

โดยในส่วนของยางพารานั้น ปชป.มีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ 3 แนวทาง คือ ข้อเสนอที่ 1 เพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ โดยเฉพาะในส่วนของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลเคยประกาศไว้ว่าจะเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศให้ได้จำนวน 1 แสนตัน แต่ไม่สามารถผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เพราะมีการใช้จริงแค่ 1,129 ตัน โดยมีเพียงหน่วยงานท้องถิ่นบางแห่งเท่านั้นที่สามารถดำเนินการเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง

"ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องเปิดเผยว่าจากที่เคยคิดจะใช้ยางพาราเป็นแสนตัน ในทางปฏิบัติได้รับซื้อเพื่อใช้ไปแล้วกี่ตัน เพราะเท่าที่ตรวจสอบเป็นสัดส่วนน้อยมากๆ รัฐบาลจึงต้องดูว่าเหตุใดหน่วยงานราชการจึงไม่ได้ใช้จริง ติดขัดที่ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง ติดขัดขั้นตอนการประมูล หรืออะไรก็แล้วแต่ ต้องแก้ปัญหาโดยทันที" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ข้อเสนอที่ 2 สถานการณ์ราคายางพารามีความจำเป็นที่ชาวสวนยางต้องมีรายได้เสริม เช่น การปลูกพืชอื่นในสวนยาง แม้จะมีการผ่อนคลายเรื่องระเบียบกองทุนฯ ให้สามารถทำได้ แต่การทำงานก็ยังไม่ได้ทำในเชิงรุกเท่าที่ควร โดยหน่วยงานที่เกี่ยวต้องสนับสนุนการปลูกพืชเสริมและประสานงานในเรื่องตลาด ไม่ให้พืชที่ปลูกเสริมแล้วเกิดปัญหาล้นตลาดตามมาอีก จึงต้องมีแผนการตลาดรองรับให้มั่นใจว่าปลูกแล้วมีกำไรมีรายได้

ข้อเสนอที่ 3 การใช้ยางพาราโดยภาคเอกชนยังมีศักยภาพนำยางพาราไปแปรรูปในชุมชน เช่น ผลิตหมอนยางพารา ผลิตรองเท้า ซึ่งมีตลาดทั้งในและต่างประเทศรองรับ แต่ปัญหาอยู่ที่การจัดตั้งโรงงานระดับชุมชนมีปัญหาเรื่องผังเมือง ถ้าเร่งรัดเรื่องนี้จะช่วยให้ยางพาราแปรรูปได้ต่อไป

"สามเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรได้ แต่ถ้าหากเห็นว่ามายังไม่เพียงพอ ความจะนำหลักการเรื่องการประกันรายได้มาปรับใช้" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

หัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวว่า สำหรับแผนงานในอนาคต รัฐบาลสามารถช่วยให้ราคายางพาราดีขึ้นในระยะกลางและระยะยาว เพราะประเทศไทยยังเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกรายใหญ่ และอยู่ในวิสัยที่ประเทศผู้ผลิตจะสามารถเจรจาหาความร่วมมือกันได้ แต่รัฐบาลต้องมีแผนงานที่ชัดเจนในการร่วมมือกับประเทศผู้ผลิตเพื่อต่อรองกับผู้ใช้ รวมถึงหาตลาดส่งออกใหม่ๆ และการแปรรูปที่ใหญ่กว่าระดับชุมชน รวมถึงการผลักดันนิคมอุตสาหกรรมยางพาราต้องมีกรอบเวลาที่ชัดเจนว่าจะผลักดันให้เกิดขึ้นเมื่อไหร่

ส่วนปัญหาราคาปาล์มตกต่ำนั้น ปัญหาหลักคือสต็อกที่ล้นตลาดอยู่ราว 3 แสนตัน หากสามารถขจัดสต็อกไปได้จะช่วยให้ราคาขยับขึ้นทันที โดยเสนอให้นำปาล์มน้ำมันไปใช้ผลิตไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้ากระบี่ โดยใช้เวลาขจัดสต็อกดังกล่าวราว 6 เดือน ซึ่งรัฐบาลจะใช้งบประมาณราว 3 พันล้านบาท

"ขณะนี้เหมือนรัฐบาลจะขยับเรื่องนี้ แต่แทนที่จะใช้โรงไฟฟ้ากระบี่กลับไปใช้โรงไฟฟ้าบางปะกง ทำให้สูญเสียค่าขนส่งโดยเปล่าประโยชน์ 1 บาท ต่อ 1 กิโล และศักยภาพก็ไม่เท่าโรงไฟฟ้ากระบี่" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

หัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวว่า เรื่องเร่งด่วนเหล่านี้เป็นปัญหาที่ตอกย้ำสภาพของเศรษฐกิจที่โตยาก เนื่องจากคนส่วนใหญ่ขาดรายได้ ยังเป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำที่พรรคให้ความสำคัญเป็นพิเศษ นโยบายพรรคจะเปลี่ยนวิธีคิดบริหารเศรษฐกิจที่หลงกับตัวเลขภาพรวมจีดีพี แต่ใส่ใจรายได้จริงของประชาชน ไม่ว่าจะเป็น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ซึ่งมีคำตอบที่รัฐบาลควรทำงานเชิงรุก ถึงลูกถึงคนเพื่อช่วยประชาชนทันที

นายสุกิจ อัถโถปกรณ์, นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล อดีต ส.ส.ตรัง, นายนริศ ขำนุรักษ์ อดีตส.ส.พัทลุง และนายเจือ ราชสีห์ อดีต ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอมาตรการแก้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ผ่านนายพันธ์ศักดิ์ เจริญ ผู้อำนวยการส่วนประสานมวลชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ออกมารับเรื่องแทน

โดยนายสุกิจ กล่าวว่า อดีต ส.ส.ภาคใต้ ได้เสนอให้รัฐบาลเร่งรัดการใช้ยางพาราในประเทศ ตามที่เคยประกาศไว้ให้กระทรวงต่างๆ นำไปใช้ โดยตั้งเป้าไว้ที่ 100,000 ตัน เนื่องจากขณะนี้ราคายางพาราอยู่ที่กิโลกรัมละ 33-34 บาท ถือว่าตกต่ำมากที่สุดในรอบหลายปี จึงขอให้นำข้อเสนอแนะนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง

นอกจากนี้ ยังขอให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำด้วย โดยขอให้รัฐบาลย้ายแหล่งผลิตจาก จ.ราชบุรี ไปที่ จ.กระบี่แทน ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนในการผลิต ซึ่งการแก้ปัญหาทั้ง 2 เรื่องนี้ ขอให้รัฐบาลจริงจังในการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรในทันที


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ