นิด้าโพล เผย"สุดารัตน์"คะแนนพุ่งแซง"ประยุทธ์-ธนาธร-อภิสิทธิ์"คนเชียร์นั่งนายกฯ แต่ไม่เชื่อเลือกตั้งได้ ก.พ.62

ข่าวการเมือง Monday November 26, 2018 11:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "ประชาชนอยากได้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ตามกฎหมายการเลือกตั้งปัจจุบัน (ครั้งที่ 5)" พบว่า บุคคลที่ประชาชนอยากให้เป็นนายกรัฐมนตรี ตามกฎหมายการเลือกตั้งปัจจุบัน (10 อันดับแรก) พบว่า ส่วนใหญ่ อันดับ 1 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคเพื่อไทย) 25.16% รองลงมา

อันดับ 2 เป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 24.05% อันดับ 3 นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่) 14.52% อันดับ 4 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 11.67% อันดับ 5 พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย 6.90%

ส่วนอันดับ 6 พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย 5.32% อันดับ 7 นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี 4.29% อันดับ 8 ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล หัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย 1.35% อันดับ 9 นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ 1.19% และอันดับ 10 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี 1.11%

ปัจจัยสำคัญที่สุดที่ใช้ในการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นั้น พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 44.21% ระบุว่าเป็นบุคคลที่มีผลงานประจักษ์ ทำประโยชน์ในพื้นที่หรือต่อประเทศไทย รองลงมา 33.33% ระบุว่าชอบพรรค/นโยบายของพรรคที่ผู้สมัครสังกัด ส่วน 10.24% ระบุว่า ต้องการได้ ส.ส.หน้าใหม่

ขณะที่ 7.94% ระบุว่าชื่นชอบเป็นการส่วนตัว เช่น บุคลิก หน้าตา ท่าทาง มีแนวคิดคล้ายตนเอง เป็นคนบ้านเดียวกัน เป็นต้น 1.75% ระบุว่า ต้องการได้นายกรัฐมนตรีตามมติของพรรคที่ผู้สมัครสังกัด 1.35% ระบุว่าเป็นอดีต ส.ส. หรือ นักการเมืองในพื้นที่ หรือ เป็นญาตินักการเมืองเดิมในพื้นที่ 0.63% ระบุว่าผู้สมัครสังกัดพรรคที่อยู่ตรงข้ามกับพรรคที่ตนเองไม่ชอบ และ 0.55% ระบุว่าผู้สมัครสังกัดพรรคที่จะได้เป็นรัฐบาลแน่นอน

เมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนอยากให้ได้คะแนนเสียงมากที่สุดและเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล 10 อันดับแรก พบว่า ส่วนใหญ่ อันดับ 1 ระบุว่าเป็น พรรคเพื่อไทย 31.75% อันดับ 2 พรรคพลังประชารัฐ 19.92% อันดับ 3 พรรคประชาธิปัตย์ 16.98% อันดับ 4 พรรคอนาคตใหม่ 15.63% อันดับ 5 พรรคเสรีรวมไทย 5.32% อันดับ 6 พรรคชาติไทยพัฒนา 2.14% อันดับ 7 พรรคไทยรักษาชาติ 1.83% อันดับ 8 พรรครวมพลังประชาชาติไทย 1.67% อันดับ 9 พรรคภูมิใจไทย 1.35% และอันดับ 10 พรรคพลังชาติไทย 0.79%

จากการสำรวจเมื่อถามถึงพรรคการเมืองที่ประชาชนอยากให้เข้ามาเป็นรัฐบาลในการเลือกตั้งครั้งต่อไป พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 61.67% ระบุว่าเป็นพรรคการเมืองพรรคใหม่ ๆ เพราะอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง มีคนใหม่ ๆ นโยบายใหม่ ๆ แนวคิดใหม่ ๆ เข้ามาบริหารและพัฒนาประเทศ ขณะที่บางส่วนระบุว่า เบื่อการบริหารงานของพรรคการเมืองพรรคเก่า

และ 38.33% ระบุว่า พรรคการเมืองพรรคเก่า เพราะ มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ ชอบการบริหารงานแบบเก่า ๆ บริหารงานดีอยู่แล้ว การทำงานมีระบบ เคยเห็นผลงานมาแล้ว มั่นใจในผลงาน รู้จักและคุ้นเคยกับประชาชนเป็นอย่างดี มีความเข้าใจและสามารถแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าพรรคการเมืองพรรคใหม่

สำหรับปัญหาที่อยากให้นายกฯ คนต่อไปเข้ามาแก้ไขมากที่สุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 44.13% ระบุว่า ปัญหาปากท้องและหนี้สินของประชาชน รองลงมา 28.81% ระบุว่าเป็นปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ 9.21% ระบุว่า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน การใช้อำนาจโดยมิชอบ ผู้มีอิทธิพล 5.08% ระบุว่า ปัญหายาเสพติด อาชญากรรม มิจฉาชีพ 5.00% ระบุว่า ปัญหาการควบคุมราคาสินค้า 2.62% ระบุว่า ปัญหาการว่างงานและแรงงานนอกระบบ และปัญหาด้านคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยในปัจจุบัน ในสัดส่วนที่เท่ากัน 1.11% ระบุว่า ปัญหาด้านสุขภาพการรักษาพยาบาล และการคุ้มครองความเสี่ยงของผู้บริโภค และ 1.42% ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ปัญหาด้านการคมนาคม ความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัญหาด้านการบังคับใช้กฎหมาย และระบบงานราชการ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความเชื่อมั่นว่าจะมีการเลือกตั้ง ภายในเดือน ก.พ.62 โดยไม่มีการเลื่อนออกไปอีก พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 50.71% ระบุว่าไม่เชื่อมั่น เพราะหลายพรรคการเมืองยังไม่พร้อม ไม่ชัดเจนในหลาย ๆ เรื่อง มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ขณะที่บางส่วนระบุว่า เลื่อนการเลือกตั้งมาแล้วหลายครั้งเลยทำให้ขาดความเชื่อมั่น

รองลงมา 48.81% ระบุว่าเชื่อมั่น เพราะสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ เป็นไปตามโรดแมปที่รัฐบาลวางไว้ มีการประกาศให้ทราบโดยทั่วกันแล้วถึงกำหนดการเลือกตั้ง และเชื่อมั่นในความสามารถและความพร้อมของรัฐบาล และ 0.48% ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

อนึ่ง นิด้าโพลทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,260 หน่วยตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 20-22 พ.ย.61


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ