ปชป.เมินร่วมถกแม่น้ำ 5 สาย 7 ธ.ค. จี้ถาม "ประยุทธ์"นั่งหัวโต๊ะประชุมเหมาะสมหรือไม่

ข่าวการเมือง Tuesday December 4, 2018 11:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนา ชีรวินิจ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า พรรคจะไม่เข้าร่วมการประชุมร่วมของรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และพรรคการเมือง ในวันที่ 7 ธ.ค.61 เนื่องจากไม่ใช่การเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองร่วมจัดทำแผนและขั้นตอนดำเนินการทางการเมืองเพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง แต่เชิญไปเพื่อให้ร่วมรับฟังแผนงานที่รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องจัดทำขึ้น

ทั้งนี้ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า การที่ กกต. อาศัยอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีหนังสือเชิญเข้าร่วมประชุมรับฟังการชี้แจงแผนและขั้นตอนการดำเนินการทางการเมืองนั้น ไม่เป็นไปตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 ข้อ 8 ที่ระบุชัดเจนว่า ให้เชิญหรือไม่เชิญพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง เพื่อร่วมจัดทำแผนและขั้นตอนการดำเนินการทางการเมือง

"การประชุมในวันที่ 7 ธ.ค.61 ไม่ได้ให้ตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วมหารือเพื่อจัดทำแผนและขั้นตอนการดำเนินการทางการเมือง แต่เป็นกรณีที่ คสช. กกต. และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้จัดทำแผนและขั้นตอนการดำเนินการทางการเมืองหรือการจัดการเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่เชิญพรรคการเมืองไปร่วมฟังด้วยเท่านั้น" นายธนา กล่าว

โฆษกพรรค ปชป.กล่าวว่า ปัจจุบันมีบางพรรคการเมืองนำชื่อนโยบายของรัฐบาลมาใช้เป็นชื่อพรรค ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าเป็นพรรคที่รัฐบาลอยู่เบื้องหลัง และมีการกล่าวอ้างถึงนโยบายที่จะดำเนินต่อหากเลือกพรรคนั้นเข้ามาเป็นรัฐบาล โดยที่รัฐบาลไม่ได้ออกมาปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับพรรคดังกล่าว

ขณะเดียวกันมีการใช้คำสั่ง คสช.หลายครั้งให้เกิดความหวาดระแวงว่ามีการก้าวก่ายและแทรกแซงการดำเนินการเลือกตั้ง เช่น คำสั่ง คสช.ที่ 16/2561 เกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการลดความน่าเชื่อถือขององค์กรอิสระที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง หรือ กตต.

นอกจากนี้ ยังมีพฤติกรรมอีกหลายเรื่องที่แสดงให้เห็นว่า คสช.กำลังจะเปลี่ยนสถานะมาเป็นพรรคการเมืองเพื่อสิบทอดอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน และทำให้เห็นได้ชัดว่า การเข้ามาของ คสช.ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อยุติความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้น หรือแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น และให้คำมั่นกับประชาชนว่าจะนำประเทศออกจากความขัดแย้งที่มีมานานนับสิบปี

"ปัจจุบันจะเป็นว่าสถานะที่ชัดเจนว่าเป็นพรรคการเมืองที่จะเข้าสู่สนามการเลือกตั้งวันที่ 24 กุมภาพันธ์อย่างแน่นอน" นายธนา กล่าว

โฆษกพรรค ปชป.กล่าวว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีหลายสถานะ คือ หัวหน้า คสช., นายกรัฐมนตรี และ ว่าที่ผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐ เพราะฉะนั้นจึงขอตั้งคำถามว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะมาเป็นผู้สมัครในบัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีปัญหาผลประโยชน์ขัดแย้งกันแล้วมีความเหมาะสมหรือไม่ที่จะมาเป็นประธานการประชุมในวันที่ 7 ธ.ค.61


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ