เลือกตั้ง'62: กกต.ถกร่วม 77 พรรคการเมืองกำหนดกรอบค่าใช้จ่าย-เกณฑ์หาเสียงเลือกตั้ง

ข่าวการเมือง Wednesday December 19, 2018 12:02 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า ในวันนี้ กกต.จัดประชุมร่วมระหว่างพรรคการเมือง 77 พรรค และสื่อมวลชน เพื่อรับฟังความเห็นประกอบการพิจารณาระเบียบการหาเสียงเลือกตั้ง ใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1.ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้ง ดย กกต. กำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายของผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละคน ไม่เกิน 2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิม 500,000 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายของพรรคการเมือง คิดตามขนาดของพรรคซึ่งนับตามจำนวนผู้สมัคร โดยพรรคเล็กมาก ขนาด 2S มีผู้สมัครไม่เกิน 50 คน ค่าใช้จ่ายต้องไม่เกิน 10 ล้านบาท พรรคเล็ก ขนาด S มีผู้สมัครไม่เกิน 100 คน ค่าใช้จ่ายต้องไม่เกิน 20 ล้านบาท พรรคใหญ่ขนาด L ผู้สมัครไม่เกิน 200 คน ค่าใช้จ่ายต้องไม่เกิน 40 ล้านบาท และพรรคใหญ่มาก ขนาด 3XL ที่มีผู้สมัครตั้งแต่ 301-350 คน มีค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 70ล้านบาท

2.วิธีการติดตั้งแผ่นป้ายโฆษณาหาเสียง กกต. กำหนดป้ายหาเสียงมี 2 ขนาด ได้แก่ ขนาด A3 ให้ผู้สมัครจัดทำได้ไม่เกิน 10เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในแต่ละเขต และป้ายคัทเอ้าต์ ขนาด 130x245 ซม. ให้ผู้สมัครจัดทำได้ไม่เกิน 2 เท่าของจำนวนหน่วยในแต่แต่ละเขต และพรรคการเมืองจัดทำได้ไม่เกิน 1 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในแต่ละเขต

ส่วนเนื้อหาในป้ายหาเสียง กำหนดให้มีได้เพียง หมายเลข /ภาพ /ชื่อ-สกุลของผู้สมัคร สามารถถ่ายภาพคู่กับหัวหน้าพรรค และบุคคลที่พรรคเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้เท่านั้น ส่วนข้อความที่ใช้หาเสียงในป้ายใส่ได้เท่าที่จำเป็นซึ่ง กกต. จะกำหนดรายละเอียดอีกครั้ง

สำหรับสถานที่ติดตั้งป้าย สามารถติดตั้งได้เฉพาะที่สาธารณะของรัฐเท่านั้น เช่น บริเวณถนนสาธารณะ ซึ่ง กกต. จังหวัดจะเป็นผู้กำหนด

3. การหาเสียงทางโซเซียลมีเดีย ขึ้นอยู่กับผู้สมัครว่าจะใช้ช่องทางใดแต่ต้องแจ้งให้ กกต. ทราบก่อนตั้งแต่วันสมัคร ส่วนบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้สมัครแต่ใช้โซเซียลมีเดียช่วยผู้สมัครหาเสียงนั้นสามารถทำได้ แต่ต้องเปิดเผยตัวตนระบุผู้จัดทำให้ชัดเจน และแจ้งให้ กกต. ทราบก่อน

ส่วนปัญหาบัตรเลือกตั้ง ที่มีการเรียกร้องให้เปลี่ยนเป็นแบบพรรคเดียวเบอร์เดียวนั้น ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และชาติไทยพัฒนา เห็นตรงกันว่า ไม่จำเป็นต้องแก้ไข เพราะจะต้องแก้ที่กฎหมายและอาจจะกระทบต่อวันเลือกตั้งได้ มีเพียง พรรคเพื่อไทย ที่เรียกร้องให้กลับไปใช้แบบพรรคเดียวเบอร์เดียว

ด้านนายศุภชัย ใจสมุทร นายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงกรณีที่กกต. ห้ามไม่ให้ใช้รูปบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องในการหาเสียงว่า ระเบียบดังกล่าวไม่ได้มีปัญหากับพรรคภูมิใจไทย เพราะทางพรรคฯ เน้นเรื่องนโยบาย ไม่จำเป็นต้องเสนอเป็นภาพบุคคลมาช่วยหาเสียง ซึ่งเรื่องนี้อาจจะเป็นประโยชน์แค่บางพรรค และเชื่อว่าการเสนอภาพบุคคลไม่น่าจะมีส่วยช่วยเพิ่มคะแนนในการหาเสียงแต่อย่างใด

นายศุภชัย กล่าวว่า ปัจจุบันวิธีหาคะแนนเสียงที่สามารถเข้าถึงประชาชนมีช่องทางอื่นๆ เช่น ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือทางออนไลน์ ซึ่งมองว่าการประชาสัมพันธ์หรือหาเสียงผ่านป้าย ไม่น่ามีผลต่อคะแนนเท่ากับการที่จะสื่อสารไปถึงประชาชนตัวต่อตัวผ่านทางออนไลน์ ซึ่งถือเป็นหน้าที่ กกต.ที่ต้องกำหนดระเบียบและแนวทางปฏบัติที่ชัดเจน เพื่อทำให้เห็นว่าการเลือกตั้งครั้งนี้สุจริต เที่ยงธรรม

ส่วนกรณีเขตเดียวเบอร์เดียวนั้น นายศุภชัย กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยไม่เห็นด้วย และเป็นห่วงว่าอาจต้องนำไปสู่การแก้กฎหมายจนส่งผลให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไป เพราะหากมีการเลื่อนการเลือกตั้ง ก็จะเป็นการกระชากอารมณ์ของประชาชน ซึ่งพรรคมองว่าถ้าเป็นเช่นนั้น คงจะไม่เป็นประโยชน์

ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ มีข้อเสนอที่อยากให้ กกต.ควบคุมค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง โดยเสนอยอดค่าใช้จ่าย 1.5 ล้านบาท/คน เพื่อให้ผู้สมัครสามารถหาเสียงได้เต็มที่ พร้อมกับเสนอให้ กกต.ดำเนินการ ทั้งในช่วงรับสมัครเลือกตั้งที่ต้องให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องการลงคะแนนเสียงแบบใหม่ และช่วงรับสมัคร ที่ กกต.ต้องพิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง และหากไม่ผ่านคุณสมบัติก็ต้องพร้อมแจกใบดำ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และช่วงเลือกตั้ง อยากให้ กกต.ทำหน้าที่ในการให้ใบส้มตามที่กำหนดไว้ให้หยุดการหาเสียง เพราะใน 3 กระบวนการทำงานให้ชัดเจน ให้เกิดความสุจริต เที่ยงธรรม

ส่วนกรณีที่ กกต.ห้ามไม่ให้ใช้รูปบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องหาเสียงนั้น นายชินวรณ์ มองว่า ถ้าทุกฝ่ายหาเสียงได้อย่างเสรีเป็นธรรม กกต.ก็สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ได้ สำหรับการกำหนดยุทธศาสตร์ที่ต้องผ่านความเห็น กกต.นั้น นายชินวรณ์ มองว่า กกต.เป็นองค์กรอิสระที่สามารถกำหนดกระบวนการเลือกตั้งให้เป็นไปตามกฏหมาย ซึ่งเชื่อว่าทุกพรรคก็พร้อมที่ดำเนินการตามกฏหมาย

สำหรับความเห็นจากหลายพรรคที่เสนอให้ใช้เขตเดียวเบอร์เดียวกันนั้น นายชินวรณ์ กล่าวว่า ต้องไปดู พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ที่ต้องกำหนดให้ กกต.ต้องดำเนินการตามกฏหมาย ถ้าหาก กกต.จะเปลี่ยนแปลงกฏหมาย โดยต้องพึ่งอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการออกมาตรา 44 ซึ่งในรายละเอียด กกต.ต้องเป็นผู้พิจารณา โดยยึดหลักให้ความเป็นธรรม เสมอภาค และเที่ยงธรรม และทำให้ทุกฝ่ายยอมรับ ซึ่งประชาธิปัตย์ก็อยากให้ยึดหลักตามกฏหมายที่ชัดเจน เพราะการเปลี่ยนแปลงจะส่งผลต่อความพึงพอใจของทุกฝ่าย

ส่วนกรณีที่ กกต. มีความเห็นว่า หากพรรคการเมืองทั้งหมดสามารถตกลงกันได้ว่าจะใช้เบอร์เดียวกันทั้งประเทศก็สามารถทำได้นั้น นายชินวรณ์ กล่าวว่ากระบวนการเลือกตั้งถือเป็นกระบวนการแข่งขัน เพราะฉะนั้นต้องมีกฏหมาย และประกาศ กกต.ที่เป็นหลักเพื่อให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตาม ซึ่งในรายละเอียดไม่สามารถตกลงกันเองได้ เพราะทุกพรรคต้องการชัยชนะในการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้นคนที่เป็นนักการเมือง ต้องยอมรับหลักนิติธรรมที่ต้องปฏิบัติตามกฏหมายเป็นเบื้องต้นก่อน

ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ตั้งคำถามถึง กกต.ว่า ผู้สมัคร ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจะสามารถติดป้ายหาเสียงได้หรือไม่ หรือติดป้ายได้เฉพาะผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งเท่านั้น เพราะถ้าไม่ครอบคลุมบัญชีรายชื่อ การประชาสัมพันธ์จะทำอย่างไร

ทั้งนี้ ส่วนตัวเห็นว่าการหาเสียงเป็นเสรีภาพของนักการเมือง และการหาเสียงสมัยใหม่ไม่ใช่แค่ติดป้ายหาเสียงเท่านั้น แต่ยังมีโซเชียลมีเดีย โดยยอมรับกังวลหลังกกต.ส่งหนังสือให้แต่ละพรรคที่ระบุว่า หลังมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ห้ามซื้อโฆษณาทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งน่าแปลกใจที่อนุญาตให้ซื้อสื่ออื่นได้เพียงอย่างเดียว เพราะเห็นว่าโซเชียลมีเดียราคาถูกกว่า จึงน่าจะสนับสนุนมากกว่ามาห้าม

ส่วนที่ระเบียบ กกต.ห้ามนำรูปถ่ายผู้อื่นในป้ายหาเสียง จะส่งผลให้ฟ้องร้องหรือไม่ นายปิยบุตร ระบุว่า ส่วนตัวมองว่าไม่ควรสนใจรายละเอียดเรื่องนี้มากนัก เพราะเชื่อว่าทุกคนก็ทราบดีว่าแต่ละพรรคมีใครบ้างเป็นผู้สมัครที่ตนเองชอบ

ส่วนระบบแบบไพรมารีโหวตที่มีความขัดแย้งภายในพรรคนั้น นายปิยบุตร ยืนยันว่า ระบบไพรมารีโหวตมีส่วนสำคัญในการสร้างระบอบประชาธิปไตยภายในพรรค ซึ่งพรรคต้องมีระบบในการคัดกรองบุคคลที่มีอุดมการณ์เดียวกัน โดยยืนยันว่าคณะกรรมการสรรหาของพรรคมีความรอบคอบแล้ว

อย่างไรก็ตาม ระบบไพรมารีโหวตถือเป็นเรื่องสำคัญของการเมืองไทย เพราะจะทำให้ไม่มีการผูกขาดการเมืองในอนาคต แต่ต้องใช้เวลาในการปรับตัวเรียนรู้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ