"อลงกรณ์"ข้องใจ สศค.กลับลำไม่ผลักดันร่างภาษีลาภลอยอาจเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนอสังหาฯ-นักการเมืองกว้านซื้อที่ดินราคาถูก

ข่าวการเมือง Sunday December 23, 2018 13:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีตรองประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ กล่าวถึงกรณีที่ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ยืนยันจะไม่ผลักดันกฎหมายภาษีลาภลอย(windfall gain tax)ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาทำให้แปลกใจว่า เหตุใด สศค.จึงกลับลำกลางคันทั้งที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 10 ก.ค.2561 อนุมัติในหลักการร่างพระราชบัญญัติภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ พ.ศ... หรือ ภาษีลาภลอยโดยให้เหตุผลว่า ต้องการสร้างความเป็นธรรมระหว่างผู้ได้รับประโยชน์กับรัฐที่ต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และรายได้จากภาษีตรงนี้ทำให้รัฐสามารถนำไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมได้จึงขอถามรัฐบาลว่าจะเดินหน้าออกกฎหมายภาษีลาภลอยต่อไปหรือไม่และถ้ากลับลำด้วยเหตุผลอะไร

"การยกเลิกการตรากฎหมายภาษีลาภลอยกลางคันจะถูกตั้งข้อสงสัยว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับทุนใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์และนักการเมืองหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่กว้านซื้อที่ดินล่วงหน้าในราคาถูกและขายต่อในราคาแพงหรือทำโครงการอสังหาริมทรัพย์ขายได้ราคาสูงและได้เปรียบผู้ประกอบการรายอื่นเพราะต้นทุนต่ำกว่าและยังได้เปรียบประเทศคือไม่ต้องเสียภาษีลาภลอยทั้งที่รัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด"

นายอลงกรณ์ กล่าวต่อไปว่า ภาษีลาภลอย (Windfall Gain Tax) เป็นการจัดเก็บภาษีจากเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ได้รับผลประโยชน์จากโครงการลงทุนของรัฐ เช่น การก่อสร้างรถไฟฟ้า รถไฟ ทางหลวง ท่าเรือ สนามบินและโครงสร้างพื้นฐานต่างๆทำให้ที่ดินหรือโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่รอบข้างมีมูลค่าสูงขึ้นเปรียบเสมือน "ลาภลอย"จากการลงทุนของรัฐที่ใช้งบประมาณจากภาษีประชาชน การจัดเก็บภาษีลาภลอยมีบังคับใช้ในต่างประเทศนานแล้ว ได้แก่ อังกฤษ ฝรั่งเศส โปแลนด์ ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกาเพื่อนำเงินส่วนนี้มาพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งที่ต้องใช้เงินในการลงทุนเป็นจำนวนมากเป็นการขยายฐานภาษีที่เป็นธรรมต่อคนไทยทั้งประเทศและเป็นการปฏิรูประบบภาษีให้ทันสมัย

สำหรับร่างกฎหมายภาษีลาภลอยที่ผ่านครม.กำหนดให้ผู้ที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีได้แก่ ผู้ขายที่ดินหรือห้องชุดที่ใช้ประโยชน์ในที่ดินเชิงพาณิชย์ มูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท และผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นเจ้าของห้องชุดรอจำหน่าย ซึ่งอยู่รอบพื้นที่ที่มีโครงการพัฒนาของรัฐ

ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีลาภลอย 3 รูปแบบ คือ 1.เก็บระหว่างดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยกรมที่ดินจัดเก็บจากการขายหรือเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ที่ดินหรือห้องชุดทุกครั้ง ทั้งนี้ การเปลี่ยนมือไม่ใช่เป็นลักษณะการโอนมรดก ซึ่งกรณีการโอนมรดกนั้น จะเข้าข่ายการเสียภาษีมรดกแทน 2.เก็บเมื่อดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จแล้ว ซึ่งจะเก็บจากที่ดินหรือห้องชุดที่ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท ส่วนนี้ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เจ้าของพื้นที่เป็นผู้จัดเก็บ 3.การจัดเก็บภาษีจะมีผลเฉพาะกับโครงการที่เกิดขึ้นใหม่เท่านั้น แต่ยกเว้นให้กับที่ดินที่ใช้สำหรับเป็นที่อยู่อาศัย และที่ดินทำเกษตรกรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ