เลือกตั้ง'62: "สมชัย"หนุน กกต.เคาะวันเลือกตั้ง 10 มี.ค.เหมาะสมสุด ชี้ไม่เสี่ยงถูกฟ้องประกาศผลเป็นโมฆะ

ข่าวการเมือง Saturday January 5, 2019 16:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.สมุทรสาคร พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นต่อกรณีที่หาก กกต. ประกาศผลการเลือกตั้งหลังจากวันที่ 9 พ.ค.62 อาจจะนำไปสู่ข้อร้องเรียนว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะได้ โดยระบุว่า "ความหวาดผวาของ กกต.หากประกาศผลเลือกตั้งหลัง 9 พฤษภาคม 2562 กกต.มีเวลา 60 วันหลังวันเลือกตั้ง ในการประกาศผลการเลือกตั้งให้ได้ร้อยละ 95 ของ 500 คน เพื่อให้สามารถประชุมสภานัดแรกได้ หากกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ครบ 60 วัน คือ 25 เมษายน 2562 หากเลือกตั้งวันที่ 10 มีนาคม ครบ 60 วัน คือ วันที่ 9 พฤษภาคม 2562

วันที่ 9 พฤษภาคม 2562 มีความหมายอะไร คำตอบคือ เป็นวันครบ 150 วันหลังจาก พ.ร.ป.สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับมีผลใช้บังคับ โดย พ.ร.ป.ส.ส.เป็นพ.ร.ป.ฉบับสุดท้าย มีผลใช้บังคับเมื่อ 11 ธันวาคม 2561 มาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญ เขียนว่า หลังจาก พ.ร'ป.สำคัญ 4 ฉบับมีผลใช้บังคับ กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จใน 150 วัน ซึ่งคำว่า "แล้วเสร็จ" ดังกล่าว เป็นคำที่ กกต.หวาดผวาที่สุด "แล้วเสร็จ" คือ "จัดการหย่อนบัตรเสร็จ" หรือ "ประกาศผลให้ได้ร้อยละ 95 " เป็นปริศนาที่ยังไม่มีใครตอบ

กกต.ชุดที่ 4 เคยทำหนังสือถึง 2 หน่วยงาน คือ กรธ. และกฤษฎีกา เพื่อหารือในประเด็นดังกล่าว

คำตอบจากประธาน กรธ. มีชัย ฤชุพันธ์ เขียนเป็นเอกสารตอบมายัง กกต.ว่า "เรื่องนี้ กรธ.เป็นผู้เขียน กม.ไม่ใช่ผู้ตีความกฎหมาย จึงไม่สามารถให้คำตอบได้" ถือเป็นคำตอบที่เสียดายเงินเดือนยิ่ง

คำตอบจาก สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตอบมาว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 1 ที่นายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธานได้พิจารณาเห็นว่า กกต.ควรสอบถามไปยังศาลรัฐธรรมนูญจะเหมาะสมกว่า

เมื่อ กกต.คิดจะถามศาลรัฐธรรมนูญ ก็มีเสียงสัมภาษณ์จากบางท่านในศาลรัฐธรรมนูญมาว่า ต้องรอให้เกิดเรื่องก่อนจึงจะส่งได้ คือ จัดเลือกตั้งไปก่อน หากมีใครร้องมา ศาลจึงวินิจฉัย (เฮ้อ บ้านเมืองเรา)

"ดังนั้น หากเลือกตั้งเสร็จ และ กกต.เอ้อระเหย ไปประกาศผลหลัง 9 พฤษภาคม 2562 แล้วบังเอิญมีมือดีไปร้องศาล และบังเอิญศาลวินิจฉัยแล้วสรุปว่า กกต.จัดการเลือกตั้งขัดรัฐธรรมนูญ ให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ กกต.ต้องรับผิดทั้งทางอาญาและแพ่ง รับผิดชอบต่อค่าใช้จ่าย 5,800 ล้านที่เสียไป (หาร 7 แค่คนละ 800 กว่าล้าน)"

ดังนั้น จะเลื่อนการเลือกตั้งเป็นเมื่อใด กกต.จะต้องพยายามประกาศผลให้ได้ร้อยละ 95 ภายใน 9 พฤษภาคม 2652

หมายเหตุ งานนี้รัฐบาลไม่เกี่ยว เพราะ กกต.เป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้ง รัฐบาลแค่ส่งรองนายกมาให้ข้อมูล และเสนอวันเลือกตั้ง แต่ทุกอย่างอยู่ที่ กกต.ตัดสินเองครับ

นอกจากนี้ นายสมชัย ยังได้เปิดแถลงที่พรรคประชาธิปัตย์ โดยระบุว่า เห็นด้วยที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เข้าปรึกษาหารือกับ กกต.ถึงเรื่องวันเลือกตั้ง พร้อมแจ้งรายละเอียดต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นก่อน และหลังพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อให้ กกต.นำมาเป็นโจทย์ในการตัดสินใจกำหนดวันเลือกตั้งให้สอดคล้องกับช่วงงานพระราชพิธี

โดยสิ่งสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องคำนึงถึง คือ กำหนดการรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จมาเป็นองค์ประธานรัฐพิธี หากยังให้มีการเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ การประกาศผล กกต.จะต้องทำครบภายในให้ 60 วัน หรือภายในวันที่ 25 เมษายน และการประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาจะต้องเกิดขึ้นภายใน 15 วัน หรืออยู่ในช่วงในประมาณวันที่ 8-9 พฤษภาคม

"นี่จึงทำให้รัฐบาลเกรงว่า จะอยู่ในช่วงเวลาใกล้กับพระราชพิธีมากเกินไป จึงต้องทำให้การเปิดประชุมรัฐสภานัดแรกขยับวันออกไป เมื่อเหตุดังกล่าวมาคิด หากมีการขยับการเลือกตั้งไปเป็น 10 มีนาคม ตามที่มีกระแสข่าวออกมาจาก กกต. จึงเป็นสิ่งที่ดูดีที่สุด เพราะการเลื่อนการเลือกตั้งออกไป 2 สัปดาห์จากกำหนดเดิม จะทำให้กำหนดในการประกาศผล รวมไปถึงการเปิดประชุมรัฐสภา จะเลื่อนออกไปอยู่ในช่วงวันที่ 24 พฤษภาคม จึงถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม" นายสมชัยกล่าว

พร้อมระบุว่า อีกเหตุผลที่คิดว่า 10 มีนาคม เป็นวันเลือกตั้งที่เหมาะสม เพราะ กกต.จำเป็นต้องคำนึงกรอบถึงกรอบระยะเวลาในการจัดการเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 ที่จะต้องจัดให้แล้วเสร็จภายใน 150 วันนับจากวันที่ พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ครบทั้ง 4 ฉบับ ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 9 พฤษภาคม แต่ขณะนี้กรณีคำว่า "ต้องจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ" ดังกล่าว ยังมีมุมมองทางกฎหมายที่แตกต่างกันอยู่ว่า หมายความว่า กกต.ต้องจัดให้หย่อนบัตรเลือกตั้งก่อน 9 พฤษภาคม หรือหมายความว่า กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งและประกาศผลให้ได้ก่อน 9 พฤษภาคม

ที่ผ่านมา ตนในฐานะ กกต.เคยถามทั้งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี, นายมีชัย ฤชุพันธุ์ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว โดยได้รับแต่เพียงคำตอบว่า ต้องหย่อนบัตรก่อนวันที่ 9 พฤษภาคม แต่ไม่มีใครกล้ายืนยันว่า ถูกต้อง โดยบอกว่า ผู้ชี้ขาดคือ ศาลรัฐธรรมนูญ

"ดังนั้น นี่จึงเป็นอีกโจทย์ที่ กกต.จะต้องคำนึงถึง หากมีการเลือกตั้งในวันที่ 10 มีนาคม ถือว่าอยู่ในช่วงที่ปลอดภัย หรือเซฟตี้โซน เพราะเป็นช่วงที่ กกต.สามารถจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จและประกาศผลก่อนวันที่ 9 พฤษภาคมได้ โดยไม่ต้องกังวลว่า จะมีมือดีนำกรณีดังกล่าวไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าการเลือกตั้งชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะหากมีการร้องจริงแล้วชี้ว่ามิชอบ การเลือกตั้งจะเป็นโมฆะ งบประมาณจำนวนมากก็จะสูญเปล่า และ กกต.จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบอย่างหลีกเลี่ยงไมได้" นายสมชัยระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ