(เพิ่มเติม) เลือกตั้ง'62: "วิษณุ"คาดประกาศ พ.ร.ฎ.เลือกตั้งภายใน ม.ค.และจัดเลือกตั้งไม่เกิน มี.ค.

ข่าวการเมือง Thursday January 10, 2019 17:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการกำหนดวันเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรมีขึ้นภายหลังวันที่ 26 ม.ค.62 ซึ่งเป็นวันประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกหรือไม่ว่า บางเรื่องมีการแจ้งความคืบหน้าให้ กกต.ทราบเป็นระยะๆ และหลังจากวันนี้ไปคงมีแจ้งให้ทราบเช่นกันเพื่อประกอบการพิจารณาของ กกต.

และหาก กตต.รอจนถึงวันที่ 26 ม.ค.อาจจะช้าไป เพราะวันดังกล่าวเป็นการพิจารณาเรื่องรายละเอียดของพระราชพิธีฯ ที่จะได้แจ้งให้ประชาชนได้รับทราบเท่านั้น เช่น เรื่องของหมายกำหนดการทั้งเดือน เม.ย.62 ซึ่ง กกต.ก็รับทราบข้อมูลแล้ว เมื่อ กกต.เห็นหมายกำหนดการก็สามารถพิจารณาข้อมูลได้

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ลงในราชกิจจานุเบกษาภายในเดือน ม.ค.นี้ และกำหนดวันเลือกตั้งคงไม่เกินเดือน มี.ค.

"ประกาศ (พ.ร.ฎ.) ไม่เกินเดือนมกราฯ และเลือกตั้งไม่เกินเดือนมีนาคม" นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวว่า หมายกำหนดการพระราชพิธีต่างๆ จะมีความชัดเจนภายหลังวันที่ 26 ม.ค.นี้ เนื่องจากเป็นวันที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในฐานะองค์ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการฯ ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยรายละเอียดต่างๆ ในวันนี้จะต้องนำความกราบบังคมทูลในวันดังกล่าวก่อน รวมถึงขอพระราชวินิจฉัย

สำหรับหมายกำหนดการเบื้องต้นของพระราชพิธีฯ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.การเตรียมการเบื้องต้น 2.พระราชพิธีเบื้องกลาง และ 3.กิจกรรมต่อเนื่องเบื้องปลาย ส่วนที่เป็นเบื้องต้นจะใช้เวลาตลอดทั้งเดือน เม.ย.ขณะที่ เบื้องกลางเป็นตัวของพระราชพิธี ประกอบด้วย 3 วัน ระหว่างวันที่ 4-6 พ.ค.และเบื้องปลายของพระราชพิธี

นายวิษณุ กล่าวว่า วันที่สำคัญที่สุดคือวันที่ 4 พ.ค.ซึ่งปีนี้จะเป็นวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ส่วนปีถัดไปและต่อๆ ไปจะกำหนดเป็นวันฉัตรมงคล หรือเป็นวันระลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ส่วนกิจกรรมในเบื้องปลายหลังจะต่อเนื่องด้วยพระราชพิธีพืชมงคลในวันที่ 8 และ 9 พ.ค.หลังจากนั้นจะเป็นกิจกรรมในส่วนของรัฐบาลและประชาชนที่จะจัดน้อมเกล้าฯ ถวาย ซึ่งจะเป็นการจัดกระจายในแต่ละวันโดยไม่ได้ต่อเนื่องกันทั้งหมด โดยจะไม่กระทบต่อเหตุการณ์บ้านเมืองอื่นๆ มากนัก

ส่วนการตั้งข้อสังเกตุในข้อกฎหมายว่าการเลือกตั้งและการประกาศรับรองผลเลือกตั้งต้องแล้วเสร็จภายใน 150 วันนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐบาลไม่เคยพูดถึงกรณีดังกล่าว ซึ่งตนเองระบุมาโดยตลอดว่ายึดถือหลักที่ว่า 150 วันกับ 60 วัน เป็นคนละเรื่องกัน เพราะใช้กฎหมายคนละมาตรา ไม่ใช่การนำเอากฎหมาย 2 มาตรามารวมกัน โดยรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า ให้จัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ได้ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้ว ซึ่งไม่ได้มีการทักทวงหรือมีประเด็นขัดรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ