นายกฯ สั่งขับเคลื่อนการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ผนึกแผนพัฒนาฉบับ 12-ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ข่าวการเมือง Tuesday January 15, 2019 13:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประชุมร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน ผู้บริหารท้องถิ่น และผู้แทนเกษตรกร เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 ในช่วงเช้าวันนี้

"ท่านนายกฯ สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งนำโครงการตามข้อเสนอในการหารือเข้าสู่ระบบและจัดสรรงบประมาณต่อไป"นายพุทธิพงษ์ กล่าวในการแถลงผลการประชุมวันนี้

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องศึกษาแนวทางการขับเคลื่อนการใช้ศักยภาพภาคเหนือตอนบนด้าน MICE, Medical & Wellness Hub, Creative LANNA และ Food Valley เชื่อมโยงระหว่างแผนงาน GMS กับมาตรการการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร แผนพัฒนาภาคเหนือภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561-2580)

พร้อมทั้งให้กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง พิจารณาศึกษาการพัฒนาศักยภาพเชื่อมโยงเมืองเก่าลำพูน ลำปาง เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน เชื่อมโยงกลุ่มจังหวัดในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา ทั้งนี้ควรนำผลการศึกษาที่ได้ไปกำหนดแผนงานหรือแผนปฏิบัติงาน โดยให้ความสำคัญกับรูปแบบการบริหารจัดการแบบบูรณาการที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน การรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน/ชุมชน/ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย

และ ให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญในพื้นที่ เช่น กระเทียม สับปะรด ลำไย เป็นต้น โดยบูรณาการแก้ไขปัญหาตั้งแต่การพัฒนาคุณภาพดิน การจัดหาพันธุ์ที่เหมาะสม การเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบสู่เกษตรแปรรูปและอุตสาหกรรมแปรรูป การพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ได้คุณภาพมาตรฐาน การจัดหาตลาดที่มีศักยภาพทั้งในประเทศและต่างประเทศรองรับ ตลอดจนกวดขันการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรโดยผิดกฎหมายที่เข้มงวดยิ่งขึ้น

ให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาจัดสวัสดิการด้านการสาธารณสุขให้กับประชาชนในพื้นที่ทุรกันดารให้เกิดความเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เช่น บริการการแพทย์ฉุกเฉิน (Emergency physician) บริการแพทย์เฉพาะทางในสาขาที่มีความจำเป็นต่อพื้นที่ จัดให้มีเครื่องมืออุปกรณ์ที่มีคุณภาพและมาตรฐานเท่าที่จำเป็น (เช่น เครื่อง CT scan ฯลฯ) รวมทั้งการสร้างมาตรการจูงใจบุคลากรทางการแพทย์ไปปฏิบัติงาน เป็นต้น หากโครงการมีความจำเป็นเร่งด่วนและมีความพร้อม ให้กระทรวงสาธารณสุขประสานสำนักงบประมาณพิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 มาดำเนินการโดยด่วน

นอกจากนั้น ยังหารือเกี่ยวกับข้อเสนอเพื่อสนับสนุน New S-Curve โดยให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องพิจารณาการพัฒนาและถ่ายทอดความรู้ดิจิทัลเพื่อพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และโลจิสติกส์สมัยใหม่ (Northern e-Commerce and Modern Logistics Digital Transformation Center for Community Enterprise) โดยคำนึงถึงการเพิ่มประสิทธิภาพผู้ประกอบการและธุรกิจชุมชนประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงพาณิชย์ การเพิ่มช่องทางการตลาดผ่าน e-Commerce) การปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคด้านการค้าและการลงทุน เป็นต้น

และให้กระทรวงพัฒนาสังคมฯ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่พิจารณาจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมพฤฒิพลังผู้สูงอายุ (Senior Wellness Center) และใช้ Digital Health Platform ให้เกิดระบบ Ecosystem ยกระดับคุณภาพชีวิตการดูแลผู้สูงอายุ และสร้างความเข้มแข็งทางด้านบริการสุขภาพ โดยคำนึงถึงความพร้อมและความคุ้มค่าในการดำเนินการ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากหน่วยงานภาครัฐที่มีอยู่ในพื้นที่ให้เป็นไปอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน

ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องพิจารณายกระดับอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (Northern Science Park) สู่การเร่งสร้างผู้ประกอบการและธุรกิจนวัตกรรม โดยการนำองค์ความรู้และงานวิจัยมาพัฒนา Start Up และ SMEs ที่มีความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับศักยภาพเชิงพื้นที่ในเรื่อง Cosmetic Valley, Bio Economy, Food Innovation และ Medical & Wellness Hub โดยค นึงถึงความพร้อมและความคุ้มค่าในการดำเนินการ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากหน่วยงานภาครัฐที่มีอยู่ในพื้นที่ให้เป็นไปอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน หากโครงการมีความจำเป็นเร่งด่วนและมีความพร้อมเชื่อมโยงกับศักยภาพที่มีอยู่ ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประสานสำนักงบประมาณพิจารณาสนับสนุนงบประมาณโดยด่วนต่อไป

รวมทั้งให้กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องพิจารณายกระดับกาแฟอาราบิก้าอย่างครบวงจร (Northern Boutique Arabica Coffee Hub) โดยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มกาแฟอาราบิก้าไทยสู่ตลาดโลก โดยให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการแบบครบวงจรบนพื้นฐานของศักยภาพ/อัตลักษณ์ของกาแฟ การพัฒนาระบบมาตรฐานการผลิตในระดับฟาร์มถึงผู้บริโภค และการเป็นศูนย์กลางการค้ากาแฟของภูมิภาคต่อไป

ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องพิจารณายกระดับ Northern Thailand Food Valley สู่การขับเคลื่อนนวัตกรรมอาหารแห่งอนาคตสู่ตลาดสากล (Northern Thailand Food Valley Scale up for Future Food Innovation to International Market) โดยการปรับเปลี่ยนฐานการผลิตของผู้ประกอบการอาหารในภาคเหนือสู่การผลิตอาหารแห่งอนาคต (Functional Food, Medical Food, Organic Food, Novelty Food) โดยให้บูรณาการใช้ศูนย์ความเป็นเลิศอาหาร (Center of Food Excellence : CoFE ) ที่กระจายในแต่ละภูมิภาค เชื่อมโยงการทำงานกับ Food Innopolis อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ (Northern Science Park) และเชื่อมโยงกับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (Industry Transformation Center : ITC) ในแต่ละภูมิภาค เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า

รวมทั้งให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชนร่วมกับสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน. หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องพิจารณายกระดับเศรษฐกิจชุมชนด้วยอัตลักษณ์ล้านนาเชิงสร้างสรรค์ เพื่อรองรับอุตสาหกรรม MICE (Creative LANNA MICE Heritage) โดยพัฒนาคุณภาพสินค้า OTOP เชื่อมโยงชุมชนนวัตวิถีให้ได้มาตรฐาน MICE หากมีความจำเป็นเร่งด่วนและมีความพร้อม ให้กระทรวงมหาดไทยประสานสำนักงบประมาณพิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 มาดำเนินการในโอกาสแรก

ด้านข้อเสนอเชิงพื้นที่ ให้มีการเพิ่มศักยภาพการผลิตทางด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม ให้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วทมกับกระทรวงเกษตรฯ พิจารณาเร่งรัดการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นอ่างเก็บน้ำแม่สุย โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง, ก่อสร้างประตูระบายน้ำดอยแต ตำบลเหมืองจี้ อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน และ ก่อสร้างระบบระบายน้ำปลายคลองแม่แตง-แม่ขาน จังหวัดเชียงใหม่ ตามขั้นตอน ทั้งนี้ให้ศึกษาแนวทางการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อจัดเข้าแผนงานบูรณาการจัดการน้ำของประเทศต่อไป

ให้กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องพิจารณาการพัฒนา "ลำปางหัตถอุตสาหกรรมเซรามิก" โดยใช้ประโยชน์จากศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จังหวัดล ปาง ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า หากจำเป็นต้องขยาย/พัฒนาเพิ่มเติมเร่งด่วนและมีความพร้อมในการด เนินงาน รวมทั้งมีรูปแบบการบริหารจัดการในเชิงพาณิชย์ที่ชัดเจน ให้กระทรวงอุตสาหกรรมประสานสำนักงบประมาณพิจารณาขอรับการจัดสรรงบประมาณมาดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

ส่วนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานนั้น นายกรัฐมนตรีสั่งการให้รับทราบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน) ของกระทรวงคมนาคม และให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาจัดลำดับความสำคัญแผนงาน/โครงการตามความจำเป็นเร่งด่วนสอดคล้องตามกรอบและเป้าหมายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ.2561–2580) ทั้งนี้ ให้ส่วนาชการทุกหน่วยงานและผู้ว่าราชการจังหวัดนำผลการดำเนินโครงการของรัฐบาลไปชี้แจงประชาชนได้รับทราบต่อเนื่องด้วย

นอกจากนี้ ยังสั่งการให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาการปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่มรดกทางวัฒนธรรม "เมืองเก่าลำพูน" และการเสริมสร้างเชียงใหม่เมืองอัจฉริยะ โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานบริเวณถนนนิมมานเหมินทร์ "Smart Nimman" โดยการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดิน โดยการบูรณาการร่วมกันระหว่างกระทรวงคมนาคม กฟภ. กปภ. อบจ.เชียงใหม่ และเทศบาลนครเชียงใหม่ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามขั้นตอน

และให้กระทรวงพลังงานร่วมกับ กระทรวงทรัพยากรฯ พิจารณาศึกษาความเหมาะสมการขยายระบบการขนส่งน้ำมันทางท่อ (Logistics) เชื่อมจากจังหวัดลำปาง-จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอรับการสนับสนุนตามขั้นตอนต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ