เลือกตั้ง'62: "พิชัย"วอนเลิกโจมตีประชานิยมในอดีต เหน็บรัฐบาลชุดนี้แจกหนักกว่า แต่ยังช่วยประชาชนให้กินดีอยู่ดีไม่ได้

ข่าวการเมือง Sunday January 27, 2019 18:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กล่าวในงานเสวนา "(รัฐ) สวัสดิการไทย เท่าไหร่ถึงจะพอ"ว่า การที่ประเทศไทยจะเป็นรัฐสวัสดิการได้ รัฐบาลต้องมีรายได้เพิ่มขึ้นอีกมาก ซึ่งรัฐจะมีรายได้มากได้ก็ต่อเมื่อประชาชนมีรายได้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีผู้จ่ายภาษีบุคคลธรรมดาจริงจำนวนน้อยมากเพียงประมาณ 3 ล้านกว่าคนจากประชากร 69 ล้านคน และภาษีจากนิติบุคคลก็ไม่มากนัก รัฐมีสัดส่วนรายได้ต่อจีดีพีเพียง 16-18% เท่านั้น ซึ่งต่ำมาก ประเทศที่เป็นรัฐสวัสดิการได้รัฐจะต้องมีสัดส่วนรายได้ต่อจีดีพีถึง 50% ซึ่งคงเป็นไปได้ยาก หลายประเทศที่เจริญแล้วในโลกก็ไม่ได้เป็นรัฐสวัสดิการ

ดังนั้น สิ่งที่รัฐต้องทำคือ จัดสวัสดิการให้กับประชาชนตามรายได้ของรัฐเท่าที่กำลังความสามารถทำได้ เมื่อรัฐมีรายได้เพิ่มก็ช่วยเพิ่ม และอยากให้กำหนดเป็นสัดส่วนของจีดีพีเช่น 3-5% เลย โดยควรจะช่วยเฉพาะกลุ่มและเฉพาะเรื่องเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งในอดีต 30 บาท รักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน กองทุนเอสเอ็มอี เอสเอ็มแอล จึงเป็นแนวทางที่ถูกต้อง และควรนำมาต่อยอดเพื่อให้ประชาชนมีรายได้และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

อีกทั้งยังช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ไทยประสบปัญหาอย่างมาก และความเหลื่อมล้ำนี้จะสร้างปัญหาให้กับประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุหลักมาจากการโจมตีและไม่เข้าใจการช่วยเหลือประชาชนผู้ด้อยโอกาส โดยกล่าวหาว่าเป็นประชานิยมที่เลวร้าย ทั้งๆ ที่เป็นความจำเป็นที่ต้องช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส

"หากจำกันได้ ตนเรียกร้องให้รัฐบาลนี้ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยตั้งแต่ปีแรกที่ปฏิวัติ แต่รัฐบาลนี้ไม่ทำอะไรมาเกือบ 4 ปี เพราะเคยโจมตีประชานิยมไว้ สุดท้ายรัฐบาลนี้ก็ต้องหันมาทำประชานิยมเสียเอง แถมยังแจกหนักกว่าเดิม อีกทั้งยังแจกสเปะสะปะ เพราะกลัวแพ้เลือกตั้ง ซึ่งไม่เป็นผลดีกับประเทศและประชาชนมากนัก เพราะไม่สามารถทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน และสร้างรายได้ที่มั่นคงเพิ่มขึ้นได้" นายพิชัย กล่าว

ดังนั้น จึงอยากให้เข้าใจว่านโยบายรัฐในอดีตที่ถูกเรียกว่า "ประชานิยม" จริงๆ แล้วคือการให้สวัสดิการแก่ประชาชน จึงอยากให้วิจารณ์ว่านโยบายนั้นดีหรือไม่ แต่ไม่ใช่ไม่ช่วยเลย เพราะประชาชนรายได้น้อยยังต้องการการช่วยเหลือในทุกด้าน และขอเสนอแนวทางประเทศดังนี้

1. การปรับโครงสร้างประเทศ โยกประชาชนไทยจากภาคเกษตรและอุตสาหกรรม เข้าสู่ภาคบริการ เพื่อเพิ่มรายได้

2. การลดความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยี เพราะการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นเร็ว ซึ่งจะเป็นปัญหาของประเทศในอนาคตได้

3. การนำไทยกลับไปเป็นศูนย์กลางอาเซียน โดยเฉพาะใน CLMV เป็นแบบ regional integration

ซึ่ง 3 แนวทางนี้จะทำให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น และรัฐมีรายได้มากขึ้น แล้วนำไปเพิ่มสวัสดิการในด้านต่างๆ ได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ