เลือกตั้ง'62: บิ๊ก 4 พรรคการเมืองใหญ่โชว์วิสัยทัศน์นโยบายด้านสุขภาพ

ข่าวการเมือง Wednesday February 13, 2019 17:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตัวแทน 4 พรรคการเมืองใหญ่ พลังประชารัฐ-เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์-อนาคตใหม่ ร่วมเสวนา"ผ่าแนวคิดพรรคการเมือง อนาคตสุขภาพคนไทย"

*แนวคิดให้สิทธิรักษาพยาบาลฟรีเฉพาะผู้มีรายได้น้อย

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานฝ่ายยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การดูแลสุขภาพถ้วนหน้า (Universal health coverage) จะต้องให้บริการดูแลได้ครอบคลุมประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ได้คุณภาพการรักษาพยาบาลเท่ากัน หากไปแยกว่าคนจนเท่านั้นที่มีสิทธิในการรักษาพยาบาลฟรีจะทำให้การรักษาพยาบาลเป็น 2 มาตรฐาน

ทั้งนี้ จากการดำเนินโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในฐานะอดีต รมว.สาธารณสุข มองว่าจำเป็นต้องคำนึงถึงหลักคิด "health for all" คือต้องการให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิในการเข้ารับการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึงและทัดเทียม จากก่อนหน้านั้นที่มีการใช้สิทธิรักษาจากบัตรอนาถา ซึ่งแบ่งระดับการรักษาทำให้เกิดปัญหากับระบบสุขภาพ

ดังนั้น การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะช่วยป้องกันผู้ป่วยจากการล้มละลายเนื่องจากภาระการรักษาพยาบาล ขณะเดียวกันก็ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพดีเพื่อเป็นกำลังผลิตของประเทศด้วย

ด้านนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดให้สิทธิรักษาเฉพาะผู้มีรายได้น้อย เพราะว่าประเทศไทยมีการพัฒนาโครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว ซึ่งการเจ็บป่วยบางครั้งอาจต้องใช้ค่ารักษาจำนวนมากและอาจทำให้ผู้ป่วยล้มละลายได้

อย่างไรก็ดี มองว่าเรื่องของสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ต้องมีความเท่าเทียมกัน ซึ่งเม็ดเงินภาครัฐที่มาหนุนโครงการดังกล่าวมาจากภาษีของประชาชนในลักษณะถัวเฉลี่ยระหว่างคนรวยกับคนจน เพราะฉะนั้นมองว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิทธิที่ตอบโจทย์การเติบโตอย่างยั่งยืนและจะต้องพัฒนาให้ดีขึ้น ซึ่งหากให้สิทธิเฉพาะผู้มีรายได้น้อยจะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจะทำให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงบริการได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นหลักประกันในความเสมอภาคในการเข้ารับบริการ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพประชาชนจำนวนมาก โดยมองว่าการทำให้ระบบได้รับงบประมาณเพียงพอจะต้องมีการปรับปรุงระบบการของบประมาณ จากที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้รับงบประมาณตามที่ขอ ซึ่งกระทบคุณภาพการบริการ ประกอบกับปัจจุบันการบริการไม่สามารถตอบสนองโรคที่ใช้ค่าใช้จ่ายสูงได้ทั้งหมด ซึ่งจะต้องมีการปฏิรูประบบภาษีด้วย

ด้านนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า นโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นมิติใหม่ของการเมืองเรื่องนโยบาย ซึ่งจะเป็นการต่อยอดในการเพิ่มความมั่นคงในชีวิตของประชาชน ซึ่งการมีประกันสังคมและประกันสุขภาพถ้วนหน้าแสดงให้เห็นว่าประชาธิปไตยกินได้จริง จากการเข้าถึงสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างเสมอภาคกัน

ส่วนการร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล (copayment) เป็นแนวคิดที่จะดึงนโยบายให้ล้าหลังลงจากรัฐบาลไม่สามารถดูแลได้ ซึ่งมองว่าประเทศไทยมีงบประมาณและทรัพยากรเพียงพอในการดูแลเด็ก คนป่วย และคนชราได้ แต่ที่ผ่านมาไม่ได้ถูกนำมาใช้ในเรื่องดังกล่าว

*แนวคิดให้ประชาชนร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล ณ จุดบริการ

นายธนาธร กล่าวว่า ปัจจุบันการบริการระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีช่องว่างให้พัฒนาปรับปรุงได้อีกมาก รวมถึงสามารถใช้เทคโนโลยีใหม่เข้ามาปรับปรุงแก้ไขปัญหาได้ อาทิ การใช้เทคโนโลยีในอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ที่สามารถนำมาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ทำให้ลดภาระงบประมาณและความแออัดของโรงพยาบาลชุมชนได้

รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างของระบบสาธารณสุขท้องถิ่น จะต้องให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองดูแลโรงพยาบาลส่วนท้องถิ่น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพได้จากงบประมาณสามารถตอบสนองความต้องการของพื้นที่นั้นจริง ๆ

ด้านนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ระบบประกันสุขภาพไม่ควรเก็บค่าใช้จ่าย ณ จุดบริการ โดยเชื่อสามารถช่วยแก้ปัญหาให้บริการมีคุณภาพดีขึ้นได้ด้วยการดึงฝ่ายต่าง ๆ มาช่วยจัดระบบบริการจากการกระจายอำนาจ อาทิ การต่อยอดโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในการให้สามารถมีแพทย์เพื่อดูแลการรักษาพยาบาลได้ และต้องเปิดโอกาสให้คลีนิคเอกชนรวมถึงเครือข่ายอื่น ๆ ที่ให้บริการสามารถเข้ามาเชื่อมโยงกันได้ รวมถึงจะต้องมีการปรับโครงสร้างใหม่ในการเพิ่มบทบาทให้ อสม.ในการเข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยติดเตียง จากการประสานงานกับ รพ.สต.และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น จากปัจจุบันไม่มีอำนาจทำได้

นอกจากนี้ มีแนวคิดด้านเทคโนโลยีในการรวมระบบข้อมูลสาธารณสุขเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพบริการ และเปิดโอกาสให้วิสาหกิจเพื่อสังคมและบริษัทเอกชนให้สามารถเข้าถึงผ่านแอพพลิเคชันได้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของรัฐที่จะเกิดขึ้น

"ถ้าจะให้ประชาชนจ่าย ผมมองว่าประชาชนที่ควรจะจ่ายก็คือประชาชนที่ทำให้เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วย ต้องไปดูว่าใครบ้างสร้างภาระในเรื่องระบบสุขภาพ อย่างเช่นการบริโภคสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพต้องเป็นผู้จ่าย"นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายสุวิทย์ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดร่วมจ่าย ณ จุดบริการ เพราะไม่สามารถตอบโจทย์ประชาชนได้อย่างแท้จริง โดยมองว่าควรเป็นระบบการจัดซื้อจัดจ้างร่วมกันมากกว่า (co-procurement) ซึ่งจะทำให้ลดต้นทุนต่าง ๆ ได้ ซึ่งในระยะสั้นจำเป็นต้องปรับ 3 กองทุนที่ยังมีความเหลื่อมล้ำกันด้านสิทธิประโยชน์พื้นฐาน อย่างไรก็ดี มองว่าหากประชาชนต้องการสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมก็สามารถจ่ายเพิ่มได้

ส่วนในระยะยาวจะต้องส่งเสริมการออม อาทิ กรมธรรม์ผู้สูงอายุเพื่อเข้าถึงสิทธิการดูแล รวมถึงเปลี่ยนกระบวนทัศน์หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าจากการรักษาเป็นการป้องกัน เพื่อทำให้ประชาชนมีสุขภาพดีในเชิงรุก ซึ่งพรรคมีนโยบายที่จะทำให้สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นรูปธรรมได้

ด้านคุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า ไม่มีความจำเป็นให้ประชาชนร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล หากเข้าใจหลักการของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอย่างแท้จริง ซึ่งไม่ใช่การมุ่งแข่งให้การรักษาฟรีที่ในอดีตเคยเป็นประเด็นทางการเมือง ซึ่งหลักการของโครงการดังกล่าวมุ่งเน้นการสร้างสุขภาพดีให้กับประชาชน โดยมีการจัดงบประมาณไปให้โรงพยาบาลชุมชนในการบริหารให้ประชาชนรายหัวเพื่อให้ประชาชนแข็งแรงและลดการเจ็บป่วย แต่ในปัจจุบันมีลักษณะการแข่งรักษาฟรีแบบประชานิยม ทำให้มีรายจ่ายเพิ่มขึ้น

*การรวมกองทุนสุขภาพ 3 กองทุน (สวัสดิการราชการ,ประกันสังคม,บัตรทอง)

นายสุวิทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันทั้ง 3 กองทุนยังมีความเหลื่อมล้ำกันอยู่ โดยมองว่าสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้จากการจัดระเบียบกองทุนใหม่ จากการให้สิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานที่พึงได้ของประชาชนอย่างเท่ากัน และส่วนสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นมาของข้าราชการและประกันสังคมที่ปัจจุบันมีความแตกต่างจากสิทธิบัตรทองนั้น มองว่าเป็นสิทธิประโยชน์ในชั้นที่สอง

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า การมุ่งไปสู่กองทุนเดียวต้องให้ผู้ที่ต้องการออกจากระบบประกันสังคมซึ่งไม่ต้องการจ่ายเงินสมทบ เปลี่ยนมาเป็นระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ทำได้อย่างมีสิทธิธรรม ซึ่งหากมีความชัดเจนว่าการอยู่ในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าดีจะทำให้ระบบประกันสังคมหายไปเอง ส่วนกรณีข้าราชการ ให้เริ่มต้นจากข้าราชการใหม่ใช้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพื่อลดจำนวนในระบบเก่าลง

ขณะที่คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า ไม่มีความจำเป็นในการรวมกองทุนสุขภาพ จากปัจจุบันทั้ง 3 กองทุนมีสิทธิการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานตามหลักวิชาการแพทย์และคุณภาพการรักษาเท่ากัน ส่วนในบางกองทุนมีการจ่ายเพิ่มเพื่อเป็นสิทธิส่วนเพิ่ม อาทิ ประกันสังคม

ส่วนนายธนาธร กล่าวว่า ปัจจุบันการแยกของ 3 กองทุนไม่สามารถทำให้ประชาชนมีความเท่าเทียมกันได้ โดยเสนอให้มีระบบเดียวในอนาคต จากมองว่าประชาชนทุกคนควรเข้าถึงระบบสาธารณสุขระบบเดียวกัน ซึ่งในระยะยาวจะต้องจำกัดการเติบโตต่อปีของระบบข้าราชการ และผลักดันการเติบโตของระบบบัตรทอง จะสามารถทำให้การรวมของกองทุนทั้ง 3 ระบบเป็นไปได้

https://youtu.be/rbr4U7Ckbq4


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ