นายกฯ ชี้ลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานช่วง 4 ปีที่ผ่านมาหวังแก้ปมความเหลื่อมล้ำ

ข่าวการเมือง Saturday February 16, 2019 11:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" ทางสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่า สังคมไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรมที่ทุกคนอยู่ร่วมกันบนผืนแผ่นดินไทยด้วยความสงบสุขมาอย่างยาวนานภายใต้พระบรมโพธิสมภาร เป็นประเทศประชาธิปไตยที่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ซึ่งหากเปรียบประเทศเป็นเสมือนครอบครัวขนาดใหญ่ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ระดับ หรือ 3 พี่น้อง พี่คนโตมีความเข้มแข็งคือผู้ประกอบการหรือนักธุรกิจขนาดใหญ่ ลูกคนกลางคือกลุ่มคนที่มีหน้าที่การงานที่มั่นคง ส่วนน้องสุดท้องคือผู้ที่มีรายได้น้อย ทั้งเกษตรกร อาชีพอิสระ รับจ้าง ผู้ใช้แรงงาน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ รวมถึง SME และ Star-up ที่กำลังจะเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ยังต้องพึ่งพาการส่งเสริมจากภาครัฐ ทุกคนต่างอยู่ในห่วงโซ่เดียวกันต้องพึ่งพาซึ่งกันและกัน โดยรัฐบาลมีหน้าที่ดูแลตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง เพื่อให้ทุกคนในห่วงโซ่มีความเข้มแข็งและพึ่งพาตัวเองได้โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง แต่ต้องพัฒนาตนเองหาความรู้เพิ่มเติม ปรับตัว รับข้อมูลข่าวสารภาครัฐอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง

ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐรับรู้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีมาอย่างยาวนาน ส่งผลต่อศักยภาพทางเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขัน จึงได้เร่งลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งด้านคมนาคมขนส่ง ทางบก ทางราง ทางทะเล ทางอากาศ ด้านสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้ชุมชน ได้แก่ 1) การจัดสรรที่ดินทำกินและส่งเสริมการพัฒนาอาชีพ ใน 61 จังหวัด 2) การพัฒนา Smart Farmer 3) การระบายข้าวจากโครงการรับจำนำข้าว 4) การอำนวยความยุติธรรม โดยตั้งกองทุนยุติธรรมช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้เข้าถึงบริการด้านกระบวนการยุติธรรม

พร้อมทั้งให้ความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างโอกาสในการเข้าถึงมาตรการต่าง ๆ อาทิ การให้สวัสดิการต่างๆ ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แอพพลิเคชั่นถุงเงินประชารัฐ แก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ รวมทั้งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่ ภายใต้โครงการไทยนิยม ยั่งยืน การจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง

การดูแลด้านสุขภาพ ได้ยกระดับกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพิ่มอัตราเหมาจ่ายรายหัวเป็น 3,600 บาทต่อคน พัฒนาระบบ UCEP สายด่วน 1669 ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิรักษาทุกที่ฟรี 72 ชั่วโมง ให้ความสำคัญกับการแพทย์ระดับปฐมภูมิ ได้แก่ ทีมหมอครอบครัวที่เน้นการป้องกันและให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด นักบริบาลชุมชนเพื่อเตรียมรับมือสังคมผู้สูงวัยและผู้ป่วยติดเตียงที่นับวันจะมีมากขึ้นๆ ไม่ให้เป็นภาระคนในครอบครัว เป็นต้น

สำหรับมาตรการช่วยเหลือที่เป็นแบบระยะยาวนั้น เน้นส่งเสริมให้มีการผลิตสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ผ่านการพัฒนาเกษตรแปลงใหญ่ 4,600 กว่าแปลง พื้นที่ 5.4 ล้านไร่ การใช้ Agri-Map เพื่อปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าเกษตรให้เหมาะสมกับศักยภาพของพื้นที่ วางแผนตลาดนำการผลิต เพิ่มมูลค่าสินค้าของชุมชนผ่านการดำเนินโครงการสินค้า OTOP และส่งเสริมสินค้า GI สร้างโอกาสในการจับคู่ธุรกิจ และนำผลิตภัณฑ์ OTOP จำหน่ายบนเครื่องบิน ให้เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน โดยมีกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) สนับสนุนการทำบัญชีครัวเรือน และส่งเสริม ธนาคารชุมชน หรือสถาบันการเงินประชาชน ให้เป็นแหล่งทุนท้องถิ่น ขจัดปัญหาการเข้าไม่ถึงธนาคารพาณิชย์ ผลักดัน พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ฯ เพื่อคุ้มครองประชาชนไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากนายทุน-ผู้มีอิทธิพล ทั้งหมดนี้เพื่อการยกระดับฐานราก ซึ่งยังมีการระบุให้เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะเร่งผลักดัน คือ การส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากด้วย

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตลอด 4 ปีที่ผ่านมาได้เน้นการดูแลทรัพยากรของชาติ ทั้งทรัพยากรมนุษย์ภายใต้กองทุนส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษา และทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ โครงการปลูกป่าในใจคนตามศาสตร์พระราชา เพื่อแก้ปัญหาทรัพยากรป่าชายเลนที่เสื่อมโทรม คืนระบบนิเวศน์ให้กับชุมชน และต่อยอดด้วยการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้คนทั้งประเทศ ในอนาคต อีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ