เลือกตั้ง'62: "อภิสิทธิ์" ชี้ทุกพรรคมีสิทธินำเสนอนโยบาย แนะ ผบ.ทบ.วางตัวเป็นกลางทางการเมือง

ข่าวการเมือง Tuesday February 19, 2019 10:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเห็นถึงกรณีที่พรรคการเมืองนำเสนอนโยบายหาเสียงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกองทัพว่า เป็นสิ่งที่สามารถจะทำได้ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เองก็มีการนำเสนอนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ เช่น การให้มีพลทหารโดยความสมัครใจ หรือการปรับลดงบประมาณบางอย่างที่ไม่จำเป็นลง ทั้งนี้ ในช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล ก็ยังเคยปรับลดงบประมาณปี 53 ในส่วนของกระทรวงกลาโหมมาแล้ว

"การนำเสนอนโยบายต่างๆ ซึ่งรวมถึงกองทัพ ก็สามารถทำได้ พรรคประชาธิปัตย์ก็มีนโยบายที่เกี่ยวกับกองทัพ มีพลทหารสมัครใจ การปรับลดงบประมาณ ปรับแนวทางการทำงานบางอย่าง เป็นเรื่องปกติ แต่ว่าเราพยายามไม่นำเสนอโดยนำไปสู่ความขัดแย้งโดยไม่จำเป็น" นายอภิสิทธิ์กล่าว

พร้อมระบุว่า การนำเสนอนโยบายของแต่ละพรรคการเมือง ไม่ควรจะนำไปสู่ความขัดแย้งใดๆ เพราะพรรคการเมืองมีสิทธิที่จะนำเสนอนโยบายของตัวเอง หากอีกฝ่ายมีความเห็นไม่ตรงกัน ก็ควรจะพูดคุยกันที่เนื้อหาสาระจะดีกว่า เพราะเป็นเรื่องของความคิดเห็นที่แตกต่างและหลากหลาย มากกว่าจะมามองว่าเป็นความขัดแย้ง

พร้อมฝากไปถึง พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะที่เป็นข้าราชการด้วยว่า ควรแสดงความชัดเจนในการวางตัวเป็นกลางทางการเมืองด้วย

"จริงๆ ไม่ควรมีความวุ่นวาย ไม่ควรมีความขัดแย้งอะไร พรรคการเมืองมีสิทธิเสนอนโยบายต่างๆ อยากให้ทุกฝ่ายมองอย่างนั้น หากมีอะไรที่มีความเห็นไม่ตรงกัน ก็ว่ากันด้วยเนื้อหาสาระจะดีที่สุด อยากให้ช่วยกัน ทุกคนมีความคิด มีจุดยืนของตัวเองได้ แต่ไม่มีความจำเป็นต้องทำให้เกิดความขัดแย้งกันขึ้นมา ทุกอย่างเป็นเรื่องของความแตกต่าง ความหลากหลายทางความคิด ถ้าเป็นแนวทางนั้น ประเทศก็เดินหน้าไปได้" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว

ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรี ออกมาติงพรรคการเมืองในเรื่องนโยบายหาเสียงนั้น นายอภิสิทธิ์ ย้ำว่า พรรคการเมืองมีสิทธิที่จะเสนอความคิด เสนอนโยบายของพรรค ซึ่งเป็นแนวนโยบายที่มีความหลากหลายกันไปในแต่ละพรรคการเมือง และเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะเป็นผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในนามของพรรคพลังประชารัฐ ก็ควรมาร่วมเวทีแสดงความคิดเห็นเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง หลากหลาย ซึ่งน่าจะดีกว่าการปล่อยให้ต่างฝ่ายต่างพูดกันไปบนความเข้าใจที่ผิดๆ อันอาจนำไปสู่ความวิตกกังวลของประชาชนว่าจะเกิดความขัดแย้งขึ้นมาได้

"ทุกคนต้องทำความเข้าใจกันว่าพรรคการเมืองก็มีสิทธิเสนอความคิด เสนอนโยบายได้ เป็นสิทธิ นั่นคือเหตุผลที่มีการเลือกตั้ง เพื่อให้คนที่มีความคิดหลากหลายสามารถเสนอนโยบาย เสนอทางออกให้ได้ จริงๆ เมื่อนายกฯ เป็นผู้สมัครนายกฯ คนหนึ่ง ท่านควรมาร่วมวงสนทนาด้วยซ้ำ เพื่อให้ประชาชนได้เห็นว่าความคิดแตกต่างกันอย่างไร ถ้าท่านเห็นว่ามันเป็นนโยบายไม่ดี ท่านก็มาร่วมวงคุยกันว่าท่านเห็นว่าอะไรที่มันดีกว่า ถ้าเป็นแบบนี้ทุก่ฝ่ายก็เดินได้ แต่ถ้าเกิดต่างคนต่างพูด ก็จะทำให้ประชาชนมีความรู้สึกหวั่นไหว วิตกในเรื่องความขัดแย้ง" หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ