เลือกตั้ง'62: ครช.ร้องผู้ตรวจการแผ่นดินสอบปมตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว.มิชอบ

ข่าวการเมือง Wednesday March 6, 2019 14:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตัวแทนผู้ประสานงานคณะราษฎรไทยแห่งชาติ (ครช.) ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ตรวจสอบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

สืบเนื่องจากกรณีมีรายงานข่าวว่า คณะกรรมการสรรหา ส.ว.ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน และมีกรรมการ ประกอบด้วย พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองหัวหน้า คสช. ,พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้า คสช., พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี และรองหัวหน้า คสช., พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รมว.แรงงาน และรองหัวหน้า คสช., นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และสมาชิก คสช.นั้น

คณะราษฎรไทยแห่งชาติ (ครช.) เห็นว่า คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยฯ ตามมาตรา 269 คสช.ผู้มีสิทธิตาม " (1) ให้มีคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภาคณะหนึ่ง ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ในด้านต่าง ๆ และมีความเป็นกลางทางการเมือง" แต่ใช้สิทธิดังกล่าวขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญในการมีคำสั่งแต่งตั้งบุคคลที่ไม่มีคุณสมบัติตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเป็นคนที่เป็นพรรคพวกของตนมาเป็นกรรมการสรรหา ส.ว. โดยรายชื่อฯ ปรากฎชัดตามข่าวล้วนเป็นพรรคพวก คสช.ทั้งสิ้น มีความฝักใฝ่ในการเมืองขั้วของ คสช. คือ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และเป็นกลุ่มคนของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีของ พปชร.อย่างชัดเจน แบบไร้ข้อโต้แย้ง ซึ่งขัดต่อมาตรา 269 (1) อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิของปวงชนชาวไทยผู้มีอำนาจอธิปไตยในการกำหนดวิธีการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เข้าไปทำหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรตามครรลองระบอบประชาธิปไตย กระบวนการดังกล่าวอาจเข้าข่ายต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ด้วย เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ มีหลายตำแหน่งในเวลาเดียวกัน และกระบวนการในการรวบอำนาจทั้งฝ่ายบริหาร และนิติบัญญัติ ตามที่ปรากฏนี้อาจเข้าข่ายถือเป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ และอาจเข้าข่ายเป็นการใช้อำนาจโดยสิทธิตามกำหนดในรัฐธรรมนูญโดยมิชอบ และอาจเข้าข่ายพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองและผู้อื่นตามความผิด หมวด 3 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตด้วย

นอกจากนี้ ครช.ได้ทำหนังสือร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรีผ่านเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อร้องเรียนว่า การกระทำดังกล่าวขัดต่อกฎหมายสูงสุด และขอเรียกร้องให้ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดินฯ ประกอบกับอำนาจตามมาตรา 265 ระงับการกระทำดังกล่าว แล้วมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหา ส.ว. ใหม่ที่มีความเป็นกลางทางการเมือง ประกอบด้วย 1.ผู้แทนสถาบันองคมนตรี 2.ผู้แทนมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค 3.ผู้แทนสภาทนายความ 4.ผู้แทนสภาเกษตรกร 5.ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 6.ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทสไทย 7.ผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยฯ 8.ตัวแทนของสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจสัมพันธ์แห่งประเทศไทย (สรส.) เพื่อให้เป็นไปตามสิทธิแห่งปวงชนชาวไทยตามบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และทำหนังสือร้องไปยังประธาน ป.ป.ช.ด้วย

ทั้งนี้ หากไม่ได้รับคำตอบหรือการแก้ไขคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยฯ ครช.พร้อมเครือข่ายปวงชนชาวไทยหลายภาคส่วนจะนำเรื่องไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้ใช้อำนาจตาม กฎหมายในวันที่ 8 มีนาคม 2562 เวลา 10.00 น.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ