***คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดียุบพรรคไทยรักษาชาติและเพิกถอนสิทธิกรรมการบริหารพรรค 10 ปี***

ข่าวการเมือง Thursday March 7, 2019 19:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า การวินิจฉัยครั้งนี้ครอบคลุม 3 ประเด็น 1.มีเหตุให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 วรรค 1 (2) หรือไม่ 2.กรรมการบริหารพรรคจะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 วรรค 2 หรือไม่ 3.ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งจะไปจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองภายใน 10 ปีหลังยุบพรรคฯ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 94 (2) หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาแล้วเห็นว่า การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขได้รับการสถาปนาขึ้นโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 และหมวด 1 พระมหากษัตริย์ มาตรา 11 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติว่าพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไปโดยกำเนิด หรือโดยการแต่งตั้งก็ตามย่อมดำรงอยู่ในฐานะเหนือการเมือง อันเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งมีพระราชหัตถเลขาที่ 1/60 ถึงพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานกรรมการราษฎรในระหว่างกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฯ ซึ่งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้มีความเห็นชอบด้วยทุกประการ

สาระสำคัญซึ่งเป็นหลักการขั้นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยของไทย ได้ระบุไว้ในความของพระราชหัตถเลขาว่า กล่าวโดยหลักการพระบรมวงศานุวงศ์ย่อมดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพ เหนือความที่จะถูกพึงตำหนิติเตียน ไม่ควรแก่ตำแหน่งทางการเมืองซึ่งเป็นการงานที่จะนำมาทั้งพระเดชและพระคุณ ย่อมอยู่ในวงที่จะถูกติเตียน อีกเหตุหนึ่งจะมาซึ่งความขมขื่นในเมื่อเวลาทำการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง อันเป็นเวลาที่ต่างฝ่ายต่างโจมตีให้ร้ายซึ่งกันและกัน

เพื่อความสงบเรียบร้อยสมัครสมานอันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในระหว่างเจ้านายกับราษฎรควรถือเสียว่าพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมจ้าขึ้นไปย่อมดำรงอยู่เหนือการเมืองทั้งหลาย ส่วนการที่เจ้านายจะช่วยทำนุบำรุงประเทศบ้านเมืองก็ย่อมมีโอกาสบริบูรณ์ในทางตำแหน่งประจำ และตำแหน่งอันเกี่ยวกับวิชาชีพเป็นพิเศษอยู่แล้ว

หลักการพื้นฐานดังกล่าว ถือเป็นเจตนารมณ์ร่วมของการสถาปนาระบอบการปกครองของไทยไว้ในรัฐธรรมนูญแต่เริ่มแรก อันเป็นฉันทามติที่ฝ่ายผู้แทนราษฎรได้ให้การยอมรับปฏิบัติสืบต่อมาว่าพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงควรดำรงอยูในฐานะเหนือการเมือง โดยเฉพาะการไม่เข้าไปมีบทบาทเป็นฝักฝ่ายต่อสู้แข่งขัน รณรงค์ทางการเมืองที่อาจนำมาซึ่งการโจมติ ติเตียน และกระทบกับความสงบเรียบร้อย สมัครสมาน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์และราษฎรที่เป็นหลักการพื้นฐานของประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ถึงแม้ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล สภาผู้แทนราษฎรได้มีการปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยาม พ.ศ.2475 ทั้งฉบับ อันนำมาซึ่งการจัดทำรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2489 ซึ่งได้เว้นการบัญญัติจำกัดบทบาทของพระมหากษัตริย์ และพรบรมวงศานุวงศ์ในทางการเมืองไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ก็หาได้ทำให้หลักการพื้นฐานทางรัฐธรรมนูญว่าด้วยฐานะของสมาชิกพระบรมวงศานุวงศ์อันเป็นที่เคารพเหนือการถูกติเตียน และไม่ควรแก่ตำแหน่งทางการเมืองอันอาจกระทบกระเทือนต่อความเป็นกลางของสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องถูกลบล้างไปไม่

ดังปรากฎเป็นที่ประจักษ์ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 6/2543 กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ออกระเบียบเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาว่า พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไปเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง อีกทั้งให้เลขาธิการพระราชวังมีหน้าที่แจ้งเหตุที่อาจไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งแทนพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป

ต่อมาคณะกรรมการการเลือกตั้งได้พิจารณาแล้วเห็นว่ามีปัญหาในทางปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงได้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามีบุคคลใดบ้างที่ไม่อยู่ในข่าย หรือได้รับการยกเว้นมิต้องไปแจ้งเหตุอันควรที่ทำให้อาจไปเลือกตั้งได้ตามมาตรา 68 ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับ รวมทั้งฉบับ พ.ศ.2540 มีบทบัญญัติเฉพาะ ซึ่งรับรองสถานะพิเศษของสถาบันพระมหากษัตริย์ตามคติการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิด กล่าวหา หรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ ไม่ได้ อีกทั้งพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตย ทรงดำรงอยู่เหนือการเมือง และทรงดำรงไว้ซึ่งความเป็นกลางทางการเมือง

ประกอบกับที่ผ่านมาพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดา ไม่เคยไปใช้สิทธิเลือกตั้งแต่อย่างใด หากกำหนดให้พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระราชโอรส พระราชธิดา พระบรมวงศานุวงศ์ที่มีความใกล้ชิด และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์อยู่เป็นนิจทรงมีหน้าที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ย่อมทำให้เกิดความขัดแย้ง และไม่สอดคล้องกันเกี่ยวกับหลักการการดำรงอยู่เหนือการเมืองและความเป็นกลางทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ เพื่อรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษตริย์ตามมาตรา 71 ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ให้ใช้กับพระมหากษตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท และพระบรมราชวงศ์ ตามมาตรา 22 และมาตรา 23 หลักการพื้นฐานว่าด้วยการดำรงอยู่เหนือการเมือง และความเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันพระมหากษตริย์

ตามนัยวินิจฉัยของรัฐธรรมนูญข้างต้น สอดคล้องกับหลักการที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงราชย์ แต่ไม่ใช่ทรงปกครอง อันเป็นหลักการระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาที่นานาอารยะประเทศที่พระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ กล่าวคือ สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นบ่อเกิดแห่งความชอบธรรมของระบบการเมือง เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ และธำรงความเป็นปึกแผ่นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ พระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ ทรงใช้อำนาจอธิปไตยโดยผ่านสถาบันการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทน

การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยมีความแตกต่างจากการปกครองในแบบพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในรัฐลักษณะอื่นซึ่งมีบทบาทโดยตรงในการใช้อำนาจทางการเมือง ดังปรากฎในระบอบประชาธิปไตยอำนาจสมบูรณ์ หรือการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐและควบคุมการใช้อำนาจทางการเมืองโดยผ่านการแต่งตั้งพระบรมวงศานุวงศ์ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายบริหารดังเช่นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญของบางประเทศในปัจจุบัน

ดังนั้น การกระทำของพรรคไทยรักษาชาติในการเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณาวดี ในนามของพรรคการเมืองเพื่อแข่งขันกับพรรคการเมืองอื่น ๆ ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง และในกระบวนการให้ความเห็นชอบแต่งตั้งบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีในขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการกระทำที่เล็งเห็นได้ว่าจะส่งผลให้ระบอบการเมืองการปกครองของประเทศไทยแปรเปลี่ยนไปสู่สภาพการณ์อันเดียวกับระบอบที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของรัฐและมีพระบรมวงศานุวงศ์ทำหน้าที่ใช้อำนาจทางการเมืองในการปกครองประเทศ

สภาพการณ์เช่นนี้ย่อมมีผลให้หลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยที่ถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงราชย์แต่ไม่ใช่ทรงปกครองต้องถูกบ่อนทำลายให้เสื่อมทรามไปโดยปริยาย

อนึ่ง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มีเจตนารมณ์สำคัญประการหนึ่ง คือมุ่งลดเงื่อนไขความขัดแย้งแพื่อให้ประเทศมีความสงบสุขบนพื้นฐานของความรู้รักสามัคคี ปรองดองภายใต้กฎเกณฑ์ตามหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยและประเพณีการปกครองที่เหมาะสมกับสถานการณ์และลักษณะสังคมไทย อีกทั้งรัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรอง ปกป้องและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทยอย่างชัดเจนและกว้างขวาง

ความตื่นตัวในสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของชนชาวไทยนั้นปรากฎชัดในข้อเท็จจริงที่ว่าการจัดการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 มี.ค.62 มีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งระหว่างวันที่ 4-8 ก.พ.62 จำนวนมากกว่า 1 หมื่นคน มีพรรคการเมืองส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ 77 พรรรคการเมือง และมีพรรคการเมืองที่เสนอชื่อบุคคลเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจำนวนทั้งสิ้น 44 พรรคการเมือง

แต่อย่างไรก็ตาม การใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองที่รัฐธรรมนูญรับรองนั้นจะต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์และกระบวนการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และต้องไม่ใช่ป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพที่จะส่งผลบั่นทอนและทำลายหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญและสั่นคลองคติรากฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยที่ดำรงอยู่ให้เสื่อมโทรมไป ด้วยเหตุฉะนี้ระบอบประชาธิปไตยภายใต้นานาอารยะประเทศจึงบัญญัติให้มีกลไกปกป้องระบอบการปกครองจากการถูกบั่นทอน บ่อนทำลายโดยการใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองที่เกินขอบเขตของบุคคลหรือพรรคการเมืองไว้ด้วยเสมอ

ดังนั้น แม้พรรคไทยรักษาชาติจะมีสิทธิและเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติไว้โดยสมบูรณ์ แต่การใช้สิทธิเสรีภาพในการกระทำการใด ๆ ของพรรคการเมืองย่อมต้องอยู่บนความตระหนักว่าการกระทำนั้นต้องไม่อาศัยสิทธิและเสรีภาพทางการเมืองที่ได้รับจากรัฐธรรมนูญให้มีผลกระทบย้อนกลับมาทำลายหลักการ พื้นฐาน บรรทัดฐาน คุณค่า และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเสียเอง เพราะประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามนิติราชประเพณีของไทยนั้น มั่นคงสถานะและเอกลักษณ์ของพระมหากษตริย์ไทยมาแต่โบราณว่าพระองค์จักทรงครองแผ่นดินโดยธรรมเพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม

พระมหากษตริย์ไทยผู้ทรงเป็นประมุขทรงเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทุกหมู่เหล่า ทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา ทุกชนชั้นวรรณะ เพศ และวัย ทรงเคารพรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และโบราณราชประเพณี และทรงอยู่เหนือการเมือง จึงต้องทรงเป็นกลางทางการะมือง ทั้งยังทรงต้องระมัดระวังไม่ให้สถาบันกษตริย์ของไทยต้องถูกนไปเป็นคู่แข่งหรือฝักฝ่ายทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดอย่างเคร่งครัด เพราะหากถูกกระทำด้วยวิธีการใด ๆ ให้เกิดผลเป็นไปเช่นนั้นสภาวะเป็นกลางทางการเมืองของสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยต้องสูญเสียไป เมื่อเสียความเป็นกลางทางการเมืองก็ย่อมไม่สามารถดำรงพระองค์และปกป้องสถาบันให้อยู่เหนือการเมืองได้ ซึ่งถ้าปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปเช่นนั้น สถาบันพระมหากษัตริย์ก็จะไม่สามารถเป็นศูนย์รวมของประชาชนชาวไทยอีกต่อไป นั่นย่อมทำให้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษตริย์ทรงเป็นประมุขที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทยต้องเสื่อมโทรมลง หรือถึงกับดับสูญสิ้นไป หากควรปล่อยให้เป็นไปเช่นนั้นไม่

สำหรับประเพณีการปกครองประเทศไทย ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งจะต้องนำมาใช้บังคับแก่การกระทำหรือพฤติกรรมทางรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติลายลักษณ์อักษรของรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 5 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญนั้น ถึงแม้จะไม่มีนิยามไว้เป็นกาลเฉพาะ แต่ก็พออนุมานความหมายเบื้องต้นได้ว่า มีองค์ประกอบ 4 ประการ ตามเนื้อความที่ปรากฏในชื่อเรียกนั่นเอง กล่าว คือ

1.หมายถึงประเพณีการปกครองที่ยึดถือปฏิบัติกันมานานจนเป็นประเพณีที่ดีงามในทางการเมือง การปกครอง มิใช่ประเพณีในกิจการด้านอื่น

2.ต้องเป็นประเพณีการปกครองของประเทศไทยที่เป็นที่ยอมรับนับถือกันว่าดีงามในประเทศไทย อันควรแก่การถนอมรักษา และสืบสานให้มั่นคงต่อไป มิใช่ประเพณีการปกครองของประเทศอื่น ลัทธิอื่น หรืออุดมการณ์อื่น

3.ประเพณีการปกครองประเทศไทยดังกล่าว หมายถึงประเพณีที่ถือปฏิบัติกันในวาระสมัยที่ประเทศมีการปกครองอยู่ในระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น

4.ประเพณีการปกครองของไทยในระบอบประชาธิปไตยนั้น หมายถึงระบอบเสรีประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มิใช่ประชาธิปไตยรูปแบบอื่น ทฤษฎีอื่น หรืออุดมการณ์อื่น

ตัวอย่างที่ชัดแจ้งขององค์ประกอบข้อนี้ ได้แก่ ประเพณีการปกครองโดยธรรม ที่องค์พระมหากษัตริย์จะต้องทรงใช้พระราชอำนาจโดยธรรม และทรงดำรงพระองค์อยู่ในทศพิธราชธรรม เพื่อให้สำเร็จผลเป็นประโยชน์ส่วนรวมแก่ประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวมด้วยเหตุนี้ จึงเป็นการจำเป็นที่พระมหากษัตริย์ไทยจะต้องทรงอยู่เหนือการเมืองและต้องทรงเป็นกลางทางการเมือง ไม่เปิดช่อง เปิดโอกาสให้สถาบันกษัตริย์ไทยต้องถูกนำไปใช้ประโยชน์โดยฝักใฝ่ทางการเมือง ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ถึงแม้จะไม่มีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญถึงสถานะที่ต้องทรงอยู่เหนือการเมืองและเป็นกลางทางการเมืองไว้เป็นการเฉพาะ ก็ต้องนำประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขดังกล่าวมาใช้บังคับด้วย

ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 5 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรค 1 บัญญัติว่า เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อไม่ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น 1.กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศด้วยวิธีการซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิธีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2.กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 3.กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 20 วรรค 2 มาตรา 28 มาตรา 30 มาตรา 36 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 46 มาตรา 72 หรือมาตรา 74

4.มีเหตุอันควรต้องยุบพรรคการเมืองตามที่มีกฎหมายกำหนด พรรคการเมืองเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบอบการปกครองประเทศ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม เพราะพรรคการเมืองเป็นองค์กรที่มีส่วนกำหนดตัวบุคคล ที่จะเข้าไปดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งในฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร

ทั้งนี้ โดยมีคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง เป็นเสมือนมันสมองและระบบจิตใจ เป็นผู้ใช้ดุลยพินิจตัดสินและกระทำการใดๆแทนพรรคการเมือง ดังนั้นผู้ที่เข้ามาจัดตั้งพรรคเมืองจึงต้องมีความรับผิดชอบต่อทุกการตัดสินใจ และการกระทำของพรรคการเมืองที่ตนบริหารจัดการอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อความมั่นคงดำรงอยู่ และพัฒนาก้าวหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืนของประเทศชาติและระบอบการปกครองของประเทศ ถ้าพรรคการเมืองใดมีการกระทำที่เป็นการล้มล้างหรือเพียงอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พรรคการเมืองนั้น รวมทั้งคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น ย่อมจะต้องถูกลงโทษทางการเมือง ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรค 1 (1) หรือ (2) แล้วแต่กรณี จะอ้างความไม่รู้ ความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือความเห็น ความเชื่อของตน มาเป็นข้อแก้ตัวให้หลุดพ้นจากความรับผิดชอบ ต่อการกระทำนั้นไม่ได้ ถึงแม้กฎหมายจะมิได้บัญญัตินิยามศัพท์คำว่า ล้มล้าง และปฏิปักษ์ไว้ แต่ทั้ง 2 คำนั้นก็เป็นคำในภาษาไทยธรรมดาที่มีความหมายตามที่ใช้และรู้กันอยู่ทั่วไป ซึ่งศาลย่อมรู้ด้วยเองว่า ล้มล้าง หมายถึงการกระทำที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือล้างผลาญให้สูญสิ้นสลายหมดไป ไม่ให้ธำรงอยู่ หรือมีอยู่ต่อไปอีก

ส่วนคำว่าปฏิปักษ์นั้น ไม่จำเป็นต้องรุนแรงถึงขนาดมีเจตนาจะล้มล้างทำลายให้สิ้นไป ทั้งยังไม่จำเป็นต้องถึงขนาดตั้งตนเป็นศัตรูหรือเป็นฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น เพียงแค่เป็นการกระทำที่มีลักษณะเป็นการขัดขวางหรือสกัดกั้นมิให้เจริญก้าวหน้า หรือเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดผล เป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลาย จนเกิดความชำรุดทรุดโทรมเสื่อมทรามหรืออ่อนแอลง ก็เข้าลักษณะของการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ได้แล้ว

สำหรับประเด็นเรื่องเจตนานั้น เมื่อมาตรา 92 วรรค 1(2) บัญญัติชัดเจน เพียงแค่อาจเป็นปฏิปักษ์ก็ต้องห้ามแล้ว หาจำต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผล หรือต้องรอให้ผลเสียหายร้ายแรงเกิดขึ้นจริงเสียก่อนไม่ทั้งนี้ ก็เพื่อให้เป็นมาตรการป้องกันความเสียหายร้ายแรงที่อาจจะเกิดแก่สถาบันหลักของประเทศไว้ก่อน อันเป็นรัฐประศาสโนบายที่จำเป็น เพื่อดับไฟใหญ่ไว้แต่ต้นลม มิให้ไฟกองเล็กกระพือโหมไหม้ลุกลามขยายไป จนเป็นมหันตภัยที่ไม่อาจต้านทานได้ในวาระต่อไป

อนึ่ง บทบัญญัติมาตรา 92 (2) ที่ว่าอาจเป็นปฏิปักษ์นั้น ในทางกฎหมายเป็นเงื่อนไขทางภาวะวิสัย กล่าวคือไม่ขึ้นกับเจตนา หรือความรู้สึกส่วนตัวของผู้กระทำ เพื่อจะเกิดผลเป็นปฏิปักษ์จริงหรือไม่ หากแต่ต้องดูตามพฤติการณ์และการกระทำนั้นๆ ว่าในความคิดของวิญญูชน หรือคนทั่วไปจะเห็นว่าการกระทำดังกล่าวส่งผลให้เป็นปฏิปักษ์หรือไม่ เทียบได้กับกรณีหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา 326 ที่ว่าน่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังนั้น ศาลฎีกาได้วางบรรทัดฐานมั่นคงไว้ว่า การพิจารณาว่าถ้อยคำ หรือข้อความใดจะเป็นการใส่ความผู้อื่น จนทำให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังหรือไม่ ต้องพิจารณาจากการรับรู้ถึงอารมณ์ความรู้สึก และความเข้าใจในถ้อยคำ หรือข้อความนั้นของวิญญูชน โดยที่ไม่เป็นเกณฑ์คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3167/2545 และข้อความใดจะทำให้เสียหายแก่ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ต้องถือเอาความคิดของบุคคลธรรมดา ผู้อื่นได้ฟัง คือไม่เกี่ยวกับเจตนา หรือความรู้สึกของผู้กระทำเอง

ส่วนผลของการใส่ความผู้อื่น จะทำให้เขาเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือเกลียดชังหรือไม่นั้น ศาลวินิจฉัยได้เอง ไม่จำเป็นต้องอาศัยคำเบิกความของพยาน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2371/2522 เมื่อการกระทำของผู้ถูกร้องมีหลักฐานชัดเจนว่า ได้กระทำไปโดยรู้สำนึก และโดยสมัครใจอย่างแท้จริง ซึ่งคณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องย่อมทราบดีว่า ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นพระราชธิดาพระองค์ใหญ่ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ทั้งยังเป็นพระเชษฐาภคินี ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แม้ทรงลาออกจากฐานันดรศักดิ์ไปแล้ว แต่ยังดำรงในฐานะที่เป็นสมาชิกแห่งพระบรมจักรีวงศ์

การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการนำสมาชิกชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์เป็นฝักใฝ่ในทางการเมือง ทั้งยังเป็นการกระทำที่วิญญูชนและคนไทยทั่วไปย่อมรู้สึกได้ว่า สามารถทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทย ที่เป็นศูนย์รวมใจของคนไทยทั้งชาติต้องถูกนำมาใช้ เพื่อความได้เปรียบทางการเมืองอย่างแยบยล ให้ปรากฏผลเหมือนเป็นฝักใฝ่ทางการเมือง และมุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเมือง โดยไม่คำนึงถึงหลักการพื้นฐานสำคัญของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียสถานะที่จะต้องอยู่เหนือการเมือง และดำรงความเป็นกลางในการเมือง อันเป็นจุดประสงค์เริ่มต้นของการเซาะกร่อนบ่อนทำลาย เป็นเหตุให้ชำรุดทรุดโทรมเสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง เข้าลักษณะของการกระทำที่อาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรค 1 (2) อย่างชัดแจ้งแล้ว จึงมีคำสั่งให้ยุบพรรคการเมืองผู้ถูกร้อง ตามมาตรา 92 วรรค 2

ระบบการปกครองในประเทศไทยมีวิวัฒนาการมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่มีการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชจนมาถึงการปกครองระบบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษตริย์ทรงเป็นประมุข ระบบการปกครองที่ว่านี้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทยมาโดยตลอด เป็นที่เคารพสักการะเทิดทูนไว้ อันสังเกตุได้จากภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.2475 รัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับมีหมวดว่าด้วยพระมหากษตริย์ และเขียนไว้ว่าพระมหากษตริย์ทรงดำรงอยู่ในสถานะเป็นที่เคารพ สักการะ ละเมิดมิได้

ประเด็นที่ 2 คณะกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องจะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 วรรค 2 หรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวบัญญติไว้ว่าเมื่อศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนแล้วมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทำการตามวรรค 1 ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองและเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น เมื่อพรรคผู้ถูกร้องกระทำการอันเป็นเหตุให้ถูกยุบพรรคและศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคแล้ว จึงชอบที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิสมัคีรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคที่ดำรงตำแหน่งดังกล่าวในวันที่ 8 ก.พ.อันเป็นวันที่เกิดการกระทำอันเป็นเหตุให้ยุบพรรค

มีข้อพิจารณาต่อไปว่าเมื่อมีข้อวินิจฉัยให้เพิอถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค จะต้องกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิเป็นระยะเวลาเท่าไหร่ เห็นว่าการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งซึ่งเป็นสิทธิทางการเมืองอย่างหนึ่ง มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่อาสาเข้ามาทำประโยชน์แก่บ้านเมืองในฐาะนผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงต้องพิจารณาตามสัดส่วน พอเหมาะพอควรระหว่างพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งการกระทำให้ได้สัดส่วนกับโทษที่จะได้รับ ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิของบุคคล

เมื่อพิจารณาลักษณะการกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการกระทำเพียงอาจเป็นปฏิปักษ์ตอ่การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ยังไม่ถึงขนาดที่เป็นการกระทำโดยมีเจตนาะล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อีกทังการกระทำดังกล่าว ยังเป็นขั้นตอนของการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี ยังไม่ได้ก่อให้เกิดความร้ายแรงต่อการปกครองของประเทศชาติ เมื่อพิจารณาถึงความสำนึกรับผิดชอบของพรรคผู้ถูกร้องที่ได้น้อมรับพระบรมราชโองการไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อมทันทีที่ได้รับทราบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ายังมีความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ จึงสมควรกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคกำหนดระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรค ซึ่งสอดคล้องกับที่บัญญัติใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 94 วรรค 2 ที่ห้ามคณะกรรมการบริหารพรรคที่ถูกสั่งยุบพรรคไปจดทะเบียนตั้งพรรคใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกไม่ได้

ประเด็นที่ 3 ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องและถูกเพิกถอนสิทธิรับเลือกตั้งจะไปลงทะเบียนตั้งพรรคใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกไม่ได้ภายในกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคหรือไม่ พิจารณาแล้วเห็นว่า พ.ร.บ.ประกอบกรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 94 วรรค 1 บัญญัติว่าเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองใดแล้ว ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองประกาศคำสั่งนั้นในราชกิจจานุเบกษา และห้ามไม่ให้บุคคลใดใชชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายพรรคการเมืองซ้ำ หรือพ้องกับชื่อย่อเดิมหรือภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองที่ถูกยุบนั้น

และวรรค 2 ที่บัญญัติว่าห้ามไม่ให้ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบไปหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการพรรคการเมือง หรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมือง กำหนด 10 ปีนับแต่วันที่พรรคการเมืองถูกยุบ บทบัญญัติว่าด้วยผลของการฝ่าฝืนกฎหมายซึ่งไม่ได้ให้อำนาจกับศาลรัฐธรรมนูญที่จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งยุบพรรคการเมืองใดแล้ว จึงต้องสั่งให้ผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งบริหารพรรคผู้ถูกร้องในวันที่ 8 ก.พ.จะไปจดทะเบียนตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรค หรือเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีกไม่ได้ ภายในเวลา 10 ปีนับตั้งแต่ที่มีคำสั่งยุบพรรค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ