ย้อนคำ"อภิสิทธิ์"ลั่นจุดยืนไม่หนุน"ประยุทธ์"หมัดเด็ดอัพคะแนนเสียงโค้งสุดท้ายหรือปิดทางร่วมรัฐบาล

ข่าวการเมือง Monday March 11, 2019 17:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

จากการออกมาแถลงจุดยืนทางการเมืองของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในวันนี้ จะมีผลทำให้อุณหภูมิทางการเมืองเริ่มร้อนแรง เป็นการเปิดศึกในช่วงโค้งสุดท้าย ด้วยการประกาศไม่สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดทของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เป็นนายกรัฐมนตรี เนื่องจากขัดอุดมการณ์ของพรรค ในการสืบทอดอำนาจเผด็จการของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

ทำให้ต้องมาดูท่าทีพรรคประชาธิปัตย์จากนี้ไปว่า กระแสการออกมาประกาศจุดยืนดังกล่าวจะช่วยเรียกเรตติ้งของพรรคในการเพิ่มคะแนนเสียงช่วงใกล้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้แล้วได้หรือไม่ หรือจะเป็นการฉุดคะแนนนิยมของพรรคที่ทำให้คะแนนของพรรคอาจหายไป

ย้อนรอยท่าทีของนายอภิสิทธิ์ กับพรรคพลังประชารัฐ

  • เมื่อวันที่ 1 เม.ย.61 นายอภิสิทธิ์ ได้ชี้แจงต่อสมาชิกพรรค ในการเปิดลงทะเบียนยืนยันการเป็นสมาชิกพรรควันแรกในหัวข้อ "อนาคตประชาธิปัตย์ อนาคตประเทศไทย"ว่า
"ยืนยันว่าสมาชิกพรรคปชป.ก็ยังสนับสนุนหัวหน้าพรรคปชป.อยู่แล้ว ส่วนใครที่จะออกนอกแถวไปสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น ให้ไปทางเลือกอื่น ไม่ต้องมาที่นี่ เพราะมีพรรคอื่นรองรับเยอะแยะ ถ้าจะอยู่กับพรรคปชป.ก็ต้องสนับสนุนหัวหน้าพรรค ไม่ว่าหัวหน้าพรรคจะเป็นใครก็ตาม ซึ่งความเป็นไปได้ที่พรรคปชป.จะสนับสนุนทหารเป็นรัฐบาลนั้นต้องไปดูว่าทหารเข้ามาได้อย่างไร และมีกี่เสียง" หัวหน้าพรรคปชป.กล่าว
  • วันที่ 23 ต.ค.61 นายอภิสิทธิ์ ย้ำจุดยืนการจับมือกับพรรคการเมืองอื่นหลังการเลือกตั้งว่า ต้องพิจารณาจากนโยบาย ไม่ใช่ว่าร่วมงานกับใครจะได้เป็นรัฐบาล และหากพรรคพลังประชารัฐจะร่วมมือกับพรรคประชาธิปัตย์ ก็จะต้องปรับวิธีการทำงาน ไม่ใช่บริหารประเทศแบบรวมศูนย์ และใช้นโยบายของรัฐบาลปัจจุบันที่ประชาชนยังได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายอยู่
  • วันที่ 26 ต.ค.61 นายอภิสิทธิ์ ได้กล่าวในการดีเบตชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค ปชป.ว่า หลังการเลือกตั้งหากใครรวบรวมเสียงข้างมากได้ก็ควรเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล แต่ไม่ควรฝืนเจตนารมณ์ของประชาชน เงื่อนไขการร่วมรัฐบาลอยู่ที่นโยบาย โดย ปชป.จะเป็นรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ไม่ใช่เป็นรัฐบาลเพื่อให้คนในพรรคได้มีตำแหน่ง
  • วันที่ 4-7 ธ.ค.61 นายอภิสิทธิ์ ออกมาปฏิเสธข่าวว่าได้รับการทาบทามร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) หลายครั้ง โดยระบุหลังการเลือกตั้งต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชนว่าคิดอย่างไร เมื่อได้ฟังนโยบายและแนวทางของพรรคการเมืองต่างๆ แล้ว ซึ่งทั้งสองพรรคมีแนวทางการเมืองที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน
  • วันที่ 5 มี.ค.62 เฟซบุ๊กแฟนเพจของ นายอภิสิทธิ์ โพสต์คลิปวิดีโอ วิสัยทัศน์และจุดยืนของนายอภิสิทธิ์ ที่ระบุว่า" ผมไม่มีวันยอมให้พรรคที่ทุจริตมานำประเทศไม่เอาทั้งพวกบกพร่องโดยสุจริต และทุจริตเชิงนโยบาย เพราะนายกฯ 4 คนของประชาธิปัตย์ไม่เคยมีมลทินเรื่องทุจริต รัฐมนตรีในรัฐบาลเรามีเรื่องอื้อฉาวทุจริตก็ลาออกทันที"
  • วันที่ 10 มี.ค.62 นายอภิสิทธิ์คประกาศจุดยืนทางการเมืองที่จะไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อแน่นอน เพราะการสืบทอดอำนาจสร้างความขัดแย้งและขัดกับอุดมการณ์ของประชาธิปัตย์ที่ว่า ประชาชนเป็นใหญ่ 5 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจย่ำแย่ ประเทศเสียหายมามากพอแล้ว หมดเวลาเกรงใจแล้ว

และในช่วงบ่ายได้ไปกล่าวเรื่องนี้ในการประชันนโยบายกับพรรคการเมืองบนเวทีดีเบต ซึ่งกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์หลังจากถูกนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ คาดคั้นว่าไม่ใช่แค่ไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์ แต่ต้องไม่เอาพรรคพลังประชารัฐด้วย เพราะเชื่อว่ามีบางพรรคบอกว่าไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์ แต่อยากจับมือกับพรรคพลังประชารัฐเพื่อชูตัวเองเป็นนายกฯ

นั่นเป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์ว่าหลังการเลือกตั้ง 24 มี.ค.62 หากมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมแล้วจะไม่มีชื่อของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคพลังประชารัฐอยู่ร่วมกันหรือไม่ ท่ามกลางกระแสข่าวมีคนใน ปชป.ออกหน้าสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่นายอภิสิทธิ์มั่นใจว่าพรรคมีกฎเหล็กดูแลสมาชิกไม่ให้แตกแถว หรือเกิดปัญหางูเห่าทางการเมืองเหมือนในอดีต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ