7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่นญัตติด่วนให้ตั้งกมธ.สอบกระบวนการได้มาส.ว./"พรเพชร" ขออย่าโยงโหวตนายกฯ

ข่าวการเมือง Wednesday June 19, 2019 13:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคอนาคตใหม่ พรรคประชาชาติ พรรคเศรษฐกิจใหม่ พรรคเพื่อชาติ พรรคพลังปวงชนไทย และพรรคเสรีรวมไทย ร่วมแถลงถึงการยื่นญัตติด่วนเพื่อขอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษา ตรวจสอบ การได้มาซึ่งส.ว.

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ประเด็นที่อยากให้มีการตวจสอบคือ 1.การคัดเลือกส.ว.มีคณะกรรมการสรรหาหรือไม่ แม้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีจะออกมาเปิดเผยรายชื่อ แต่ก็เป็นการเปิดเผยรายชื่ออย่างไม่เป็นทางการ

2.คณะกรรมการดังกล่าวมีระเบียบ และวิธีการสรรหาอย่างไร เพราะที่ผ่านมายังไม่เคยถูกเปิดเผย 3.มีสมาชิกส.ว.หลายท่านที่เป็นเครือญาติ และพวกพ้องของผู้มีอำนาจ เป็นการได้มาโดยชอบตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่ และ 4.งบประมาณ 1,300 ล้านบาท ได้ถูกนำไปใช้ตามระเบียบวิธีการใช้งบประมาณหรือไม่

นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีความพยายามในการร้องเรื่องนี้ไปหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ ดังนั้น เวลานี้ช่องทางเดียวที่เหลืออยู่คือต้องให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาตรวจสอบเรื่องดังกล่าว

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จะนำเรื่องนี้ส่งต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ เพื่อให้บรรจุญัตติโดยด่วน เพื่อที่จะได้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบโดยเร็วต่อไป

ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวว่า การตรวจสอบคุณสมบัติส.ว. นั้นมีกระบวนการตามขั้นตอนกฎหมายระบุไว้ หากเป็นขั้นตอนของกระบวนการสรรหาก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่จะตรวจสอบความถูกต้อง ซึ่งขณะนี้กระบวนการดังกล่าวได้เสร็จสิ้นลงแล้ว

อย่างไรก็ตาม หากจะมีการตรวจสอบก็ต้องยึดหลักตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ซึ่ง ส.ส.ก็สามารถตรวจสอบได้เฉพาะ ส.ส. ส่วน ส.ว.ก็จะตรวจสอบได้เฉพาะ ส.ว.ไม่สามารถตรวจสอบข้ามสายได้ แต่ก็มีกระบวนการรัฐสภาที่สามารถตรวจสอบข้ามสายได้ คือ การยื่นญัตติผ่านประธานรัฐสภาเพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นข้อสงสัยเรื่องคุณสมบัติของ ส.ว.ขัดกฎหมายหรือไม่

สำหรับข้อสงสัยต่อการใช้งบประมาณในการสรรหา ส.ว.จำนวน 1,300 ล้านบาทนั้น นายพรเพชร ระบุว่า สามารถตรวจสอบได้ โดยขอดูรายละเอียดจาก กกต.เนื่องจากหน่วยงานดังกล่าวเป็นผู้ดำเนินการรับสมัคร รวมถึงกระบวนการสรรหาทั้งหมด พร้อมยืนยันหากมีการตรวจสอบ ส.ว.จะไม่ทำให้การทำงานสะดุด เพราะเป็นแค่ข้อกล่าวอ้างที่ใครก็พูดได้ และยังไม่รู้ด้วยว่าที่ประชุมสภาจะรับพิจารณาญัตติดังกล่าวหรือไม่

ส่วนเรื่องการโหวตนายกรัฐมนตรีนั้น ขออย่านำโยงกันให้เกิดปัญหา เนื่องจากเป็นเรื่องที่ไกลเกินกว่าจะตอบได้ และส่วนตัวเชื่อว่าการโหวตนายกรัฐมนตรีของ ส.ว.จะไม่เกี่ยวกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ควรดูที่จริยธรรมในการทำหน้าที่ดีกว่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ