นายกฯ ประชุม สมช.นัดแรก เตรียมลดพื้นที่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, ยังไม่ตั้งหน.ชุดพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้

ข่าวการเมือง Thursday August 22, 2019 17:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2562 ถึงการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ในวันพรุ่งนี้ (23 ส.ค.)พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี จะประชุมในเรื่องการปรับลดกฎหมายจากพ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มาใช้พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อีกครั้ง โดยเบื้องต้นมี 5 อำเภอ แต่ขอให้รอความชัดเจนเพิ่มเติมอีก 1 อำเภอในวันพรุ่งนี้

"รัฐบาลจะยังคงทำหน้าที่ดูแลสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะด้านการพัฒนา ทั้งการนำโครงการต่างๆลงไปสร้างสถานประกอบการใหม่ ซึ่งถือว่าทำให้เกิดการลงทุนขึ้นตามลำดับ"นายกรัฐมนตรี กล่าว

ในส่วนของหัวหน้าชุดพูดคุยสันติสุขในพื้นที่ ซึ่งพล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ ได้ลาออกไปเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แล้วนั้น ได้มอบหมายให้รองหัวหน้าชุดพูดคุย ทำหน้าที่ดูแลแทนไปก่อน จนกว่าจะมีความพร้อมในการแต่งตั้งใหม่ แต่นโยบายการพูดคุยนั้นมีแนวทางที่ชัดเจนอยู่แล้ว และยังคงเดินหน้าต่อไป โดยการพูดคุยที่ผ่านมาก็จะนำมาหารือว่าสิ่งไหนที่กฎหมายไทยสามารถทำได้บ้าง ทั้งนี้ในส่วนการลดความรุนแรงและสร้างความเชื่อมั่นในพื้นที่ เป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องช่วยกัน หากยังจะประโคมข่าว ก็ย่อมเข้าทางกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ที่ต้องการให้มีข่าวเผยแพร่ออกไป

ส่วนผลการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในวันนี้ได้มีการพิจารณาเรื่องสำคัญ 2 เรื่อง ได้แก่ เรื่องแรก (ร่าง) แนวทางการกำหนดท่าทีของไทยต่อกลุ่มประเทศต่างๆ พ.ศ. 2562-2564 เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินการร่วมกับส่วนราชการในการผลักดันผลประโยชน์ด้านความมั่นคงของไทยต่อกลุ่มประเทศต่างๆ เช่น กลุ่มประเทศที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ กลุ่มประเทศอาเซียน และกลุ่มประเทศในภูมิภาคต่างๆ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และจะช่วยสนับสนุนภารกิจของหน่วยงานให้มีการดำเนินการได้อย่างสอดประสานและสามารถบูรณาการการทำงานร่วมกัน

เรื่องที่สอง (ร่าง) แนวปฏิบัติเชิงนโยบายเพื่อสกัดกั้นการลักลอบขนส่งอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ระบบเครื่องส่ง และวัสดุอุปกรณ์ (ทางทะเล ทางอากาศ และทางบก) เพื่อรองรับพันธกรณีระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ความริเริ่มเพื่อความมั่นคงจากการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (Proliferation Security Initiative:PSI) ข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council:UNSC) ด้านการไม่แพร่ขยายอาวุธ และมาตรการควบคุมสินค้าที่มีความสำคัญทางยุทธวิธีต่างๆ โดยสอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องของไทย ทั้งนี้ (ร่าง) แนวปฏิบัติฯ ได้กำหนดขั้นตอนการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกัน ตั้งแต่ก่อนการสกัดกั้น การดำเนินการสกัดกั้น และภายหลังการสกัดกั้น

(ร่าง) แนวปฏิบัติในการสกัดกั้นการลักลอบขนส่งอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง จะมีส่วนสำคัญในการเสิรมสร้างความมั่นคงกับประชาคมระหว่างประเทศ ในการเฝ้าระวังและแสวงหาความร่วมมือเพื่อจัดการกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีแนวปฏิบัติระหว่างหน่วยงานที่มีความชัดเจน สามารถปฏิบัติงานร่วมกันได้อย่างถูกต้อง และรวมถึงการมีกลไกการตัดสินเชิงนโยบายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ