ครม.เห็นชอบความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดนภายใต้แม่โขง-ล้านช้าง/ทวิภาคีไทย-อินเดีย เตรียมลงนามในต.ค.นี้

ข่าวการเมือง Monday October 7, 2019 17:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะทำงานสาขาความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 3 ซึ่งในวันที่ 8 และ 10 ต.ค.นี้ จะมีการประชุมของคณะทำงานเพื่อลงนามในความร่วมมือดังกล่าวที่จะขับเคลื่อนร่วมกันในอนาคต

สำหรับการประชุมคณะทำงานสาขาความร่วมมือเศรษฐกิจข้ามพรมแดน ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง ล้านช้าง จะมี 3 ประเด็นหลักสำคัญที่เกี่ยวข้อง คือ 1.มุ่งเน้นการเชื่อมโยงเศรษฐกิจที่มีนวัตกรรมและความยั่งยืนร่วมกัน 2.ยกระดับการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานและดิจิทัล และ 3.ส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และอุตสาหกรรมในสาขาที่มีความสำคัญ เช่น เกษตรและเกษตรแปรรูป, พลังงานไฟฟ้า, การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการผลิต โดยเน้นยานยนต์ สิ่งทอ อิเล็กทรอนิกส์ วัสดุก่อสร้าง ปิโตรเคมี การแพทย์ และเวชภัณฑ์ชีวภาพ

ส่วนความร่วมมือด้านอื่นๆ ที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจะต้องขับเคลื่อนร่วมกันต่อไป ได้แก่ โลจิสติกส์ข้ามพรมแดน, การยกระดับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์, การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและความรู้ต่างๆ เป็นต้น

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือระหว่างประเทศ และเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทยและคนไทยเองที่จะร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับอนุภูมิภาครวมทั้งจีน ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งลดช่องว่างทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของประเทศลุ่มน้ำโขงทั้ง 6 ประเทศ (ไทย, กัมพูชา, ลาว, เมียนมา, เวียดนาม และจีน) อีกทั้งยังเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยที่จะแสดงบทบาทในการเป็นผู้นำและศูนย์กลางการพัฒนาของกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา, เวียดนาม) ด้วย

พร้อมกันนี้ ยังมีอีกหนึ่งความร่วมมือระหว่างประเทศที่ไทยและอินเดียเตรียมจะลงนามในเดือน ต.ค.นี้ โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่างเอกสารผลลัพธ์การประชุมคณะกรรมาธิการร่วม เพื่อความร่วมมือทวิภาคี ไทย-อินเดีย ครั้งที่ 8 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-10 ต.ค.นี้ ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย โดยเอกสารที่จะลงนามร่วมกันดังกล่าว จะเป็นการแสดงเจตนารมย์ความร่วมมือกันในเรื่องหลัก 8 ด้าน ประกอบด้วย

1.ด้านการเมือง จะมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีอินเดียจะมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในปลายปีนี้ หรือในช่วงครึ่งปีแรกของปี 63

2.ด้านการทหารและความมั่นคง โดยเห็นพ้องให้ใช้ MOU ว่าด้วยความร่วมมือทางทหารและการปประชุมหารือด้านการทหารไทย-อินเดีย โดยเน้นย้ำถึงวามพร้อมในการทำงานร่วมกัน เช่น ความมั่นคงทางทะเล การลักลอบขนยาเสพติด การค้าอาวุธ และการละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นต้น

3.ด้านเศรษฐกิจและการค้า โดยทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะมีการรื้อฟื้นการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าไทย-อินเดีย ซึ่งไทยสนับสนุนให้ภาคธุรกิจของอินเดียเข้ามาลงทุนในไทย โดยเฉพาะโครงการในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

4.ด้านความเชื่อมโยงระหว่างไทยกับอินเดีย เพื่อเดินหน้าโครงการถนนสามฝ่าย อินเดีย-เมียนมา-ไทย และความตกลงยานยนต์ 3 ฝ่ายที่จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ รวมทั้งการเชื่อมโยงการค้าทางทะเลระหว่างกันตามแผนแม่บทด้านความเชื่อมโยงของความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอล สำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ

5.ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยจะส่งเสริมโครงการวิจัยร่วมกัน การประชุมเชิงปฏิบัติการในสาขาที่สนใจ เช่น วิทยาศาสตร์การเกษตร เทคโนโลยีชีวภาพ วัสดุศาสตร์ และเทคโนโลยีอวกาศ เป็นต้น

6.ด้านการท่องเที่ยว วัฒนธรรม และการศึกษา โดยไทยแสดงความขอบคุณอินเดียในการขยายทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยนาลันทา ปีการศึกษา 63-64 และทุนการศึกษาระดับปริญญาเอก 100 ทุน ที่ Indian Institutes of Technology สำหรับนักศึกษาไทยภายใต้ ASEAN-India Fellowship Programme

7.ด้านกงสุล โดยจัดให้มีคณะทำงานร่วมเฉพาะกิจด้านการตรวจลงตรา และการกงสุลไทย-อินเดีย อย่างสม่ำเสมอ

8.ด้านภูมิภาคและพหุภาคี อินเดียแสดงความชื่นชมต่อบทบาทของไทยในฐานะประธานอาเซียน และสนใจสนับสนุนโครงการเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน 2025 ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) และความเป็นหุ้นส่วนด้านการพัฒนาระหว่างอินเดียกับความร่วมมือการพัฒนาเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ