บอร์ดกองทุนฟื้นฟูฯ อนุมัติกรอบวงเงิน 2.4 พันลบ. ขับเคลื่อนแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร

ข่าวการเมือง Tuesday October 8, 2019 16:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กล่าวภายหลังการประชุมนัดแรกหลังจากมีการตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ โดยใช้เวลานานกว่า 5 ชั่วโมงว่า ที่ประชุมอนุมัติกรอบวงเงินสำหรับการดำเนินงานกองทุน 2,463 ล้านบาท วงเงินปี 2563 แก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร

สำหรับกรอบงบประมาณรายจ่ายของกองทุนประจำปีงบประมาณ 2563 จำนวน 2,463 ล้านบาท ที่จะนำเสนอกระทรวงการคลังเห็นชอบตามขั้นตอนต่อไป และอนุมติให้ใช้จ่ายงบประมาณเพื่อการบริหารสำนักงานในไตรมาสที่ 1 และ 2 ปีงบประมาณ 2563 จำนวน 157 ล้านบาทเศษสำหรับการบริหารองค์กร โดยจะมีผลย้อนหลังถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2562 หลังจากกระทรวงการคลังอนุมัติตาม พ.ร.บ.ทุนหมุนเวียน ส่วนงบประมาณในส่วนเหลือ คณะกรรมการบริหารกองทุนฯและคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกรจะพิจารณาจัดทำรายละเอียดแผนการใช้จ่ายเพื่อนำมาเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ต่อไป

ส่วนการพิจารณาที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องของเกษตรกร 7 ข้อนั้น ได้แก่ 1.แก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรลูกหนี้ธนาคารของรัฐ กรณีพิจารณาให้คณะกรรมบริหารหนี้พิจารณาการใช้งบประมาณ 3,500 ล้านบาท เพื่อซื้อหนี้ 4 ธนาคาร (ธ.ก.ส. ออมสิน ธอส. SME Bank ตั้งแต่ปี 2546) เมื่อซื้อแล้ว กองทุนบริหารโฉนด สามารถปล่อยให้เกษตรกรหรือทายาทเช่าซื้อเพื่อใช้ต่อไปได้ (ไม่ได้รวมตัวเลข ธ.ก.ส.) มีมติมอบหมายคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกรตรวจสอบข้อมูลลูกหนี้และรายละเอียดโครงการจัดการหนี้เกษตรกร ให้เรียบร้อยก่อนเสนอคณะกรรมการกองทุนพิจารณา เพื่อเสนอ ครม.ให้ความเห็นชอบต่อไป เนื่องจากยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลลูกหนี้กับเจ้าหนี้ ด้วยวัตถุประสงค์ของการกู้ใน 3 ธนาคารที่ไม่ใช่ ธ.ก.ส.นั้นไม่ได้เป็นกิจการเพื่อการเกษตร

2.โครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินและฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กรณีหนี้เกิน 2.5 ล้านบาท ต้องพิจารณานำเข้า ครม.เพื่อมอบอำนาจให้กรรมการกองทุนใช้งบประมาณมาจัดการซื้อหนี้เกษตรกรแต่ละรายที่ยอดเกิน 2.5 ล้านบาท จำนวน 344 ราย รวมทั้งหมด 2314.66 ล้านบาท (เป็นหนี้ธนาคารอื่นในข้อ 1 ยกเว้น ธ.ก.ส) ซึ่งรวมอยู่ในงบ 3,500 ล้านบาท ที่ประชุมเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วม 4 ฝ่าย จำนวน 15 คน โดยมีตัวแทนเกษตรกรภาคละ 1 คนเข้าร่วมในคณะอนุกรรมการฯด้วย และให้ปรับปรุงโครงการฯก่อนเสนอคณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกรตรวจสอบ ก่อนเสนอคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรพิจารณา และเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

3.ขอความเห็นชอบจัดการหนี้ที่ถูกเจ้าหนี้ขายทรัพย์สินเป็นประกัน (NPA ทรัพย์ที่ถูกเจ้าหนี้ขายทอดตลาด ทำให้กองทุนฯไม่มีอำนาจไปจัดการทรัพย์ ประชุมพิจารณาให้คณะกรรมการจัดการพิจารณารายละเอียดการซื้อคืนทรัพย์ NPA จำนวน 607 ล้านบาท (ซื้อไปแล้ว 288 ล้านบาทเศษ) ของเกษตรกร 499 ราย แต่ยังมีปัญหาคุณสมบัติเกษตรกรบางราย ซึ่งบอร์ดก่อนหน้านี้ได้ชะลอ โดยอ้างอิงถึงเรื่องผู้บริหารกองทุนไม่มีอำนาจจัดการ ล่าสุดมีข้อสรุปว่า ผู้บริหารกองทุนมีอำนาจจัดการ เรื่องนี้จึงยังค้างอยู่ ที่ประชุมมีมติมอบหมายให้คณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกรพิจารณาร่างระเบียบการซื้อทรัพย์คืน ให้ครอบคลุมปัญหาเพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาและซื้อทรัพย์คืนให้เกษตรกรได้ และอนุมัติให้คณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกรซื้อทรัพย์ NPA คืนให้เกษตรกรที่มีคุณสมบัติครบถ้วน (ให้คณะกรรมการกองทุนฯพิจารณาเห็นชอบก่อน) และให้ดำเนินการรวบรวมรายชื่อเกษตรกรที่มี NPA ที่มีปัญหาไม่เข้าหลักเกณฑ์เสนอคณะกรรมการจัดการหนี้ฯกลั่นกรองความถูกต้อง พร้อมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะก่อนเสนอคณะกรรมการกองทุนพิจารณาต่อไป

4.พิจารณาแนวทางการชำระหนี้แทนสถาบันเกษตรกร กรณีการทดลองจ่ายเงินชดเชย บอร์ดต้องพิจารณา พิจารณาแนวทางการชำระหนี้แทนสถาบันเกษตรกร กรณีกรรมการกองทุนปี 48 รับหลักการให้ลดหนี้ 50% และตัดดอกเบี้ยทิ้ง ให้เกษตรกรที่เป็นหนี้สหกรณ์จำนวน 43,004 ราย (ขึ้นทะเบียนเมื่อปี 49) โดย ครม.ให้กองทุนฯจ่ายชดเชยก่อน โดยเอาเงินจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ 1,392 ล้านบาท สถานะปัจจุบันต้องการให้ ครม. ชดเชยเงินคืนกองทุนและลดหนี้ให้เกษตรกรอีก 50% ที่ประชุมเห็นชอบให้คณะกรรมการจัดการหนี้ของเกษตรกรกลับไปพิจารณาหนี้ทั้งระบบ หากจำเป็นต้องเสนอ ครม.ขอเงินชดเชยคืน ให้นำเสนอคณะกรรมการกองทุนฯพิจารณาอีกครั้ง

5.ปรับปรุงแก้ไขระเบียบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการโอนทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันชำระหนี้ และการเช่า เช่าซื้อ หรือซื้อทรัพย์สินไปจากกองทุน พศ 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) รวมถึงบรรดาระเบียบ ประกาศ หรือเกณฑ์อื่นใด ที่เกี่ยวข้อง บอร์ดให้อำนาจกองทุนพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบการเช่าซื้อ ที่ประชุมมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารพิจารณาดูระเบียบหลักเกณฑ์ดังกล่าว

6.การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการปฏิรูปองค์กรและจัดทำโครงการพิเศษเพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรในกรณีเร่งด่วน ขอบอร์ดให้อำนาจกองทุนพิจารณาตั้งคณะอนุกรรมการปฏิรูปองค์กรและจัดทำโครงการพิเศษเพื่อเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรเร่งด่วน ที่ประชุมมีมติส่งให้กรรมการบริหารดำเนินการโดยให้รับผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดลไปพิจารณาด้วย

7.กำกับการปฏิบัติงานคณะกรรมการบริหาร เร่งออกประกาศหลักเกณฑ์ว่าด้วยการฟื้นฟูฯ ภายใต้ระเบียบคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเฉพาะกิจว่าด้วยการพิจารณาแผนและโครงการฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรขององค์กรเกษตรกรฯ พ.ศ.2562 ขอบอร์ดให้อำนาจกองทุนพิจารณาระเบียบให้กรรมการบริหารออกหลักเกณฑ์ว่าด้วยการฟื้นฟูภายใต้ระเบียบของกรรมการเกี่ยวกับแผนและโครงการฟื้นฟู ที่ประชุมมีมติให้คณะกรรมการบริหารเร่งดำเนินการออกร่างหลักเกณฑ์ฯ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ