(เพิ่มเติม) นายกฯ นำคณะลงพื้นที่ศรีสะเกษ แจงผลสำเร็จนำประชุมอาเซียน แนะเกษตรกรปรับตัวให้ทันยุค-ร่วมมือภาครัฐเลิกขัดแย้ง

ข่าวการเมือง Thursday November 7, 2019 13:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม พร้อมคณะ ประกอบด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย, นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์, นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี, นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะ ออกเดินทางไปยังกองบิน 21 อ.เมือง จ.อุบลราชธานี เพื่อลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านอุ่มแสง ต.คู่ อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธานเปิดโรงอบเมล็ดพันธุ์ข้าวและทดสอบระบบการคัดคุณภาพข้าว รวมถึงการพบปะเกษตรกร และเยี่ยมชมกิจกรรมการดำเนินงานต่างๆ ได้แก่ การส่งเสริมการเกษตรในรูปแบบแปลงใหญ่จังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, นิทรรศการ Fair Tade ของผู้ค้าที่ไม่หวังผลกำไรตอบแทนของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน, กิจกรรมการส่งเสริมการปลูกพืชทางเลือกของศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ, กิจกรรมการดำเนินงานของ Young Smart Farmer จังหวัดศรีสะเกษ และกิจกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมทางการเกษตร ก่อนจะเดินทางกลับ กทม.ในช่วงเวลา 13.15 น.

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวภายหลังรับชมการแสดงพื้นบ้านจากนักเรียนใน อ.ราษีไศลว่า การประชุมสุดยอดอาเซียน และการประชุมการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership-RCEP) ที่ไทยสามารถผลักดันความร่วมมือใน 15 ประเทศ ถือเป็นการเริ่มกติการ่วมกัน และคาดว่าจะมีการลงนามในปีหน้า ความร่วมมือนี้จะส่งผลให้ภาคเกษตรในประเทศไทยดีขึ้น ดังนั้น หลายอย่างต้องมีการปรับโครงสร้าง

เช่นเดียวกับการหารือกับ IMF ที่ผ่านมา ซึ่งหลายอย่างในประเทศไทยดีขึ้น และถือว่าไทยเป็นประเทศที่มีความแข็งแกร่งที่สุดในอาเซียน นอกจากนั้น ยังได้หารือกับทางการจีนถึงแนวทางความร่วมมือในการแก้ปัญหาความยากจน โดยมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯไปศึกษาดูงาน และให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมีแนวทางในการปรับปรุงภาคเกษตร ทั้งเกษตรแปลงใหญ่ พัฒนาพื้นที่ ส.ป.ก. ขณะเดียวกันจะต้องมีการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมไปสู่ยุค 4.0 เพื่อหารายได้ใหม่ให้กับประเทศ นอกเหนือจากภาคเกษตร รัฐบาลจึงส่งเสริมการลงทุนแบบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ซึ่งการพัฒนาในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวัน (EEC) ยืนยันว่าไม่ได้เอื้อการลงทุนให้ใคร แต่เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการลงทุน

ทั้งนี้ ส.ว.และ ส.ส.ทุกคนต้องร่วมมือกันขับเคลื่อนประเทศ การเมืองต้องแยกออกจากกัน เพื่อทำประโยชน์ให้คนทั้งประเทศ ทั้งนี้สำหรับ จ.ศรีสะเกษ ถือว่ามีรายได้เป็นอันดับที่ 14 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ 68 ของประเทศ แต่ไม่อยากให้กังวลในเรื่องนี้ อยากจะให้หันมาเพิ่มมูลค่าสินค้า โดยมีเป้าหมายการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ และการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน พร้อมย้ำให้เกษตร นำวัชพืชที่เหลือจากการเกษตรมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า ลดการเผาทำลาย ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ PM 2.5 และยังเชิญชวนประชาชน ลด ละ เลิก การใช้ถุงพลาสติก และช่วยกันกำจัดขยะทะเล

นายกรัฐมนตรี ขอให้ประชาชนภาคเกษตรกรปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน รวมถึงใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ ในการค้นคว้าหาข้อมูล ขณะเดียวกันขอให้เจ้าหน้าที่นำสิ่งที่พูดในวันนี้ไปสื่อสารกับประชาชนในพื้นที่ให้เกิดความเข้าใจ ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลอย่าสร้างความขัดแย้งอีก ลดความรุนแรงในครอบครัว ไม่บั่นทอนสถาบันครอบครัว จนมาสู่การทำลายชื่อเสียงของประเทศ พร้อมฝากนักเรียนที่เรียนหนังสือทั้งในระบบและนอกระบบ ต้องเน้นตอบโจทย์ความต้องการของตลาด พร้อมสั่งการกระทรวงศึกษาปรับปรุงหลักสูตรให้ตรงความต้องการของตลาดแรงงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ