วิปรัฐบาล กำชับพรรคร่วมฯ เตรียมความพร้อมพิจารณาญัตติตั้ง กมธ.แก้ไขรัฐธรรมนูญ 27 พ.ย.นี้

ข่าวการเมือง Monday November 25, 2019 17:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยว่า ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรน่าจะมีการพิจารณาญัตติขอตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญภายในสัปดาห์นี้ โดยได้กำชับให้วิปพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคเตรียมความพร้อมในวันที่ 27 พ.ย.นี้ เวลา 15.00 น.

ขณะที่การกำหนดตัวบุคคลที่จะเข้าไปทำหน้าที่คณะกรรมาธิการฯ นายวิรัช กล่าวว่า ในสัดส่วนคณะรัฐมนตรีก็เป็นไปตามที่นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุไปแล้ว ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรคจะมีการประชุมเพื่อกำหนดตัวบุคคลในวันพรุ่งนี้ แต่ขณะนี้ขออย่าเพิ่งเปิดเผยชื่อ เพราะหากเปิดเผยไปแล้วบางคนอาจจะไม่รับตำแหน่งก็ได้

ส่วนตำแหน่งประธานกรรมาธิการฯ น่าจะไปพิจารณาหลังจากได้รายชื่อคณะกรรมาธิการทั้ง 49 คนที่จะพิจารณาบุคคลที่เหมาะสม โดยสัดส่วนยังคงประกอบด้วยฝ่ายคณะรัฐมนตรี 12 คน พรรคร่วมรัฐบาล 18 คน พรรคร่วมฝ่ายค้าน 19 คน โดยทราบเบื้องต้นว่าฝ่ายคณะรัฐมนตรีจะแบ่งสัดส่วนให้กับพรรคร่วมรัฐบาลเพิ่มเติม แต่ยังไม่ทราบจำนวนชัดเจน

สำหรับกระแสข่าวที่ระบุว่าว่าพรรคพลังประชารัฐจะเสนอนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. เป็นประธานกรรมาธิการฯนั้น นายวิรัช กล่าวว่า นายไพบูลย์ ก็อยู่ในรายชื่อผู้ที่จะเป็นแคนดิเดทมีโอกาสเป็นประธานกรรมาธิการฯได้ แต่ก็ยังมีอีกหลายคน อาทิ นายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไปจนถึงนายสุชาติ ตันเจริญ

นายวิรัช ยังกล่าวถึงกระแสข่าวที่ระบุว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะไม่สนับสนุนให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศ และคำสั่งของ คสช. และการใช้อำนาจของหัวหน้า คสช. ตามมาตรา 44 ว่า มอบหมายให้วิปแต่ละพรรคการเมืองไปสำรวจจำนวนเสียงของแต่ละพรรคที่จะมีการลงมติในวันพุธนี้

เบื้องต้นรับทราบตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้วว่าผู้เสนอญัตติหลายคนต้องการเพียงเสนอญัตติเท่านั้นไม่ได้หวังผล ประกอบกับคำสั่ง คสช. 500 กว่าฉบับ ถูกยกเลิกไปแล้ว 400 กว่าฉบับ และรอหมดสภาพประมาณ 20-30 ฉบับ การใช้อำนาจตามมาตรา 44 เรื่องใดที่ยังคงมีผลก็จะสอบถามหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง หากมีความจำเป็นก็จะออกเป็นพระราชบัญญัติตามมา ส่วนคำสั่งที่เหลือ ส.ส.ที่เสนอญัตติก็สามารถเสนอให้คณะกรรมาธิการสามัญที่เกี่ยวข้องพิจารณาได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ