นายกฯ วอนภาครัฐ-เอกชนช่วยขับเคลื่อนธุรกิจสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจโลกภายใต้เครือข่ายเพื่อความยั่งยืน

ข่าวการเมือง Monday December 2, 2019 14:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดตัวเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนประเทศไทย (Thailand Responsible Business Network : TRBN) ว่า รัฐบาลต้องอาศัยพลังภาคเอกชนมาร่วมสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ในรูปแบบคู่ขนานกับการบริหารงานและการอำนวยความสะดวกจากภาครัฐ โดยเห็นว่าโลกและสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ทั้งการเดินหน้าปฏิวัติอุตสาหกรรม และเทคโนโลยี 5G ประกอบกับในปี 2564 นอกจากการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มถดถอยแล้ว ไทยยังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ

ดังนั้น ไทยในฐานะประเทศเกษตรกรรมจึงต้องผนึกกำลังกันทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ร่วมกันปรับตัวให้สอดคล้องกับภาวะของโลกให้ประเทศมีความเข้มแข็ง มีเสถียรภาพ และต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนานาประเทศในการมาลงทุนในไทย ตลอดจนสร้างรายได้ที่มั่นคง และแก้ปัญหาหนี้สินต่างๆ ให้ได้ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี

นายกรัฐมนตรี ยังฝากทุกคนช่วยกันทำให้ประเทศไทยเกิดความสงบสุข เพื่อสร้างความเชื่อมั่นกับต่างชาติ ซึ่งทุกคนต้องร่วมใจกันสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศ อะไรที่ไม่ใช่ปัญหาหลักก็อยากให้มองข้ามไปบ้าง เพราะวันนี้ปัญหาเศรษฐกิจโลกคือปัญหาที่สำคัญที่สุด

ทั้งนี้ การแก้ปัญหาหนี้ที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามแก้ปัญหาร่วมกันด้วยการสร้างเครือข่ายให้ภาคเอกชน นำไปสู่ความยั่งยืนของคนในประเทศต่อไปตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งไทยเป็นผู้นำเรื่องนี้ อยากให้ทบทวนว่าเราได้ทำให้เกิดประโยชน์กับประเทศเราเองสูงสุดแค่ไหน เพราะประเทศอื่นนำปรัชญานี้ไปใช้อย่างได้ผลกันหลายประเทศแล้ว

สำหรับแนวทางการพัฒนาที่ยังยืน ประเทศไทยมีทรัพยากรที่มีความพร้อมแต่ปัจจุบันเริ่มพบปัญหาเรื่องทรัพยากร ต้องช่วยกันสร้างและรักษาสิ่งที่ดีเอาไว้ ไทยถือว่าโชคดีที่พบภัยพิบัติไม่มากเท่ากับประเทศอื่น จึงต้องช่วยกันพัฒนารักษาทรัพยากรที่มีเอาไว้และใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนในการประกอบธุรกิจ โดยมีความเคารพ คุ้มครอง และเยียวยา ซึ่งไม่เฉพาะกับแรงงานเท่านั้น แต่รวมถึงสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งนโยบายนี้เป็นต้นแบบกรอบการดำเนินธุรกิจให้กับประเทศอาเซียนด้วย

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอทุกฝ่ายอย่าสร้างความขัดแย้ง โดยยอมรับว่าเมื่อเห็นข่าวสารต่างๆในบ้านเมืองก็รู้สึกท้อบ้าง แต่ก็ต้องปล่อยวาง และเริ่มคิดใหม่ เพราะเมื่อได้รับความเชื่อมั่นให้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีก็ต้องทำอย่างเต็มที่

อนึ่ง สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย จึงได้ร่วมกับ 9 องค์กร อันประกอบด้วย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) , ก.ล.ต., ตลท., สภาธุรกิจตลาดทุนไทย, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย, สมาคมธุรกิจเพื่อสังคม, SB ประเทศไทย และ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) จัดตั้ง TRBN เพื่อชักชวนบริษัทจดทะเบียนและบริษัทเอกชนทั่วไป รวมถึงภาคส่วนอื่นๆ ร่วมลงมือผนวกการพัฒนาอย่างยั่งยืนในเป้าหมายขององค์กรและการประกอบการ และร่วมลงมือทำโครงการเพื่อส่วนรวมที่ตอบโจทย์ปัญหา และความต้องการในมิติต่างๆ ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถวัดและรายงานผลได้เป็นรูปธรรม มีผลกระทบเชิงบวกที่สำคัญในระดับประเทศ และสากลยอมรับ

นางพิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ TRBN กล่าวว่า TRBN มีพันธกิจหลัก ดังนี้ 1. ส่งเสริมให้เกิดความตระหนักความรู้ ความเข้าใจที่ตรงกัน และการแลกเปลี่ยนความคิดที่จะนำไปสู่การดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน 2. เชื่อมโยงทรัพยากร องค์ความรู้ เทคโนโลยี สนับสนุนงานวิจัย นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน และ 3. เป็นพื้นที่กลางของความร่วมมือของภาคธุรกิจกับภาคส่วนอื่นๆ เพื่อการสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อส่วนรวม

ขณะที่เป้าหมายในการดำเนินงานของ TRBN มุ่งไปที่ 3 ประเด็นหลัก โดยเป้าหมายแรกเป็นเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Emission) เน้นเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป้าหมายที่สอง คือ การเปิดโอกาสอย่างทั่วถึง (Inclusivity) เน้นเรื่องการบริหารจัดการห่วงโซ่คุณค่า (Value-chain Management) และสิทธิมนุษยชนและการพัฒนามนุษย์ (Human Rights & Human Development) ส่วนเป้าหมายสุดท้าย เป็นเรื่องการมีธรรมาภิบาล (Good Governance) เน้นศีลธรรมความซื่อสัตย์ทางธุรกิจ (Business Integrity) รวมถึงการลงทุนและการบริโภคอย่างยั่งยืน (Sustainable Investment & Consumption)

"ถึงเวลาที่เราต้องเติบโตไปด้วยกัน ต้องมาร่วมขบวนช่วยกันพิสูจน์ให้เห็นว่าการประกอบธุรกิจที่มุ่งเป้า ESG ไปด้วย อาจมีต้นทุนเพิ่มบ้าง แต่ให้ผลดีในระยะยาว เป็นการบริหารความเสี่ยง สร้างความรู้สึกที่ดีและความเชื่อมั่นในแบรนด์ มีการศึกษาพบว่าผลรายงาน ESG ที่สูงกับผลประกอบการที่สูงสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญด้วย บริษัทตลาดหลักทรัพย์ มีซัพพลายเชนที่เป็น เอสเอ็มอีจำนวนมากที่เป็นพาร์ทเนอร์ คู่ค้า มีคนงานเกี่ยวเนื่องกันมากมาย หากมาร่วมกันแบ่งปันข้อมูลกันก็จะยิ่งเกิดความเข้มแข็งของภาคธุรกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในวงกว้าง" นางพิมพรรณ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ