เอยูโพล เผยชาวบ้านเบื่อหน่าย-เครียดเพิ่มขึ้นจากปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง

ข่าวการเมือง Friday December 13, 2019 11:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สถาบันวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอยูโพล) เผยประชาชนส่วนใหญ่ 82.95% เกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย ขณะที่ 74.28% ไม่มีความสุขเลย และ 56.28% รู้สึกหมดกำลังใจ ซึ่งความรู้สึกต่างๆ มีมากกว่าการสำรวจครั้งที่ผ่านๆ มาอย่างเห็นได้ชัด และอาจส่งผลให้ความสุขและคุณภาพชีวิตของคนไทยถดถอยลงได้ในที่สุด

สาเหตุที่ทำให้มีความเครียดเพิ่มขึ้นมาจากทุกเรื่องเมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งที่ผ่านมา โดยประชาชน 89.34% ชี้ปัญหาที่ทำให้เครียดมากกว่าเรื่องอื่นๆ ยังคงเป็นเรื่องสภาพเศรษฐกิจ/การเงิน ปัญหาปากท้อง เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน สินค้าราคาแพง ปัญหาหนี้สิน รายรับไม่พอกับรายจ่าย ค่าครองชีพสูง รองลงมา 73.53% เป็นเรื่องการงาน ซึ่งปัญหาเกิดจากปริมาณ/ขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบ สวัสดิการและค่าตอบแทนที่ได้รับ และ 68.30% เป็นปัญหาครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นภาระความรับผิดชอบต่อครอบครัว ความคาดหวังของคนในครอบครัว และความไม่เข้าใจกันระหว่างคนในครอบครัว

ประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ เมื่อพิจารณาความเครียดของคนในแต่ละวัยพบว่า คนไทยทุกเพศวัยต่างก็มีความเครียดในเรื่องสภาพเศรษฐกิจมาเป็นอันดับ 1 เหมือนๆ กัน นอกจากปัญหาเศรษฐกิจแล้ววัยรุ่นยังมีความเครียดเรื่องเรียน เช่น ผลการเรียน การศึกษาต่อ อาชีพในอนาคต ในสัดส่วนที่สูงพอกับเครียดเรื่องเศรษฐกิจ

ขณะที่กลุ่มวัยทำงานก็มีความเครียดเรื่องการทำงาน เช่น ปริมาณงานที่ทำ/ขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบ สวัสดิการค่าตอบแทน และรายได้ไม่แน่นอน/ค้าขายไม่ดีควบคู่ด้วย ส่วนผู้สูงอายุเครียดเรื่องสุขภาพของตัวเอง เช่น ร่างกายไม่แข็งแรง มีโรคประจำตัวและเจ็บป่วยไม่สบายบ่อย

และปัญหาต่างๆ ในทุกเพศวัยเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับผลสำรวจไตรมาสที่ผ่านมา ดังนั้นต้องมีการวางแผนและระมัดระวังในการใช้ชีวิตให้มากขึ้น ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งหาวิธีการแก้ปัญหาดังกล่าวเพื่อลดความเครียดที่อาจจะมากขึ้นเรื่อยๆ อันจะส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนต่อไป

สำหรับวิธีปฏิบัติตนเพื่อแก้ปัญหาเมื่อรู้สึกเครียดในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องสภาพเศรษฐกิจ/การเงินที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คนไทยส่วนใหญ่เลือกที่จะพึ่งตนเอง โดยใช้จ่ายอย่างประหยัด ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง หาอาชีพเสริมและพยายามทำงานให้มากขึ้น ปล่อยวางทำใจยอมรับความเป็นจริงและมีสติ เป็นต้น ส่วนความเครียดในเรื่องการงานนั้นก็พยายามอดทนและปล่อยวาง หาอาชีพเสริมหรือหางานพิเศษทำ ตั้งใจทำงาน และหาความรู้เพิ่มเติมพร้อมฝึกฝนในการทำงานให้มากขึ้น เป็นต้น

อนึ่ง เอยูโพลได้ทำวิจัยเชิงสำรวจเรื่องดัชนีความเครียดของคนไทยไตรมาส 3/2562 จากกลุ่มตัวอย่างประชาชนทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา จำนวนทั้งสิ้น 2,009 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 3-30 พ.ย.ที่ผ่านมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ