นายกฯ มอบนโยบายจัดทำงบประมาณปี 64 ขาดดุลต่อเนื่อง กำชับขับเคลื่อนตามแผนพัฒนายุทธศาสตร์ชาติและแผนฯ 12

ข่าวการเมือง Monday December 23, 2019 12:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาและมอบนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2564 แก่หัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้รับทราบนโยบาย หลักเกณฑ์และแนวทางในการจัดทำงบประมาณ กำหนดกรอบแผนงาน/โครงการตามนโยบายรัฐบาลให้สามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน ทั้งความมั่นคง การสร้างความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม การเติบโตอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการปรับสมดุลและพัฒนารับการบริหารจัดการภาครัฐ รวมถึงเป็นไปตามแผนงานบูรณาการที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ 14 แผนงานบูรณาการ

สำหรับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 นั้น รัฐบาลได้กำหนดให้จัดทำงบประมาณแบบขาดดุลต่อเนื่องจากงบปี 63 แต่ต้องกำหนดกรอบไม่ให้กระทบต่อวินัยการเงินการคลัง และต้องขับเคลื่อนตามแผนพัฒนายุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บท สอดคล้องแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และต้องหาเงินรายได้มาชดเชยงบประมาณในส่วนนี้ด้วย เพื่อให้ไทยเป็นประเทศที่เติบโตทางเศรษฐกิจสูง แต่รัฐบาลทำเพียงลำพังไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนด้วย

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้กำหนดให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งระยะสั้น กลาง ยาว โดยกำหนดแผนงานแต่ละช่วงให้ชัดเจน พร้อมทั้งกำหนดงบประมาณเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เป็นการลงทุนเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจในประเทศ และนำไปสู่การจ้างงาน สร้างรายได้

โดยแนวทางการใช้จ่ายงบประมาณในขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ซึ่งตามปฏิทินจะต้องพิจารณางบประมาณให้แล้วเสร็จภายในเดือน ม.ค.63 โดยที่ประชุมรัฐสภาจะมีการพิจารณาวาระที่ 2 และ 3 ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.63 เป็นตันไป และมีผลบังคับใช้ในเดือน ก.พ.63 พร้อมทั้งได้สั่งการให้หัวหน้าส่วนราชการเร่งดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบโดยเร็ว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ต้องเผชิญในขณะนี้มีทั้งเรื่องของความท้าทายทางเศรษฐกิจโลก และความตึงเครียดทางการเมืองทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการปรับประมาณการการเติบโตเศรษฐกิจโลกจากการประเมินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่คาดว่า เศรษฐกิจโลกโตไม่เกิน 3% ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจากการประเมินของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้ปรับลดการประมาณทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ที่ระดับ 2.6% ซึ่งรัฐบาลต้องหามาตรการมารองรับผลกระทบเหล่านี้ และได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เน้นการลงทุนในประเทศ ซึ่งเดือน ส.ค.ที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว ,การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน,มาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก, มาตรการชิม ช้อป ใช้, การประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งมาตรการดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้เติบโตขึ้น

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการเพิ่มเติม ทั้งการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก การกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งคาดว่าไตรมาสที่ 4 ปี 62 เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ที่ 3% ส่วนมาตรการระยะยาว รัฐบาลมุ่งส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆเพื่อเชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆให้ง่ายขึ้น

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลตั้งเป้าว่าในปี 2568 ไทยต้องหลุดพ้นจากความยากจน เป็นประเทศที่พร้อมเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งล่าสุดสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ (S&P) ได้ปรับมุมมองการเพิ่มความเชื่อถือของประเทศไทยในรอบ 9 ปีให้เป็นประเทศที่เสถียรภาพในเชิงบวกในรอบ 16 ปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ