กระทรวงกลาโหมสหรัฐประกาศไม่อนุญาตให้ "กูเกิล" ยักษ์ใหญ่ด้านเครื่องมือสืบค้นทางอินเทอร์เน็ต บันทึกภาพภายในค่ายทหารต่างๆในสหรัฐ สำหรับนำไปทำแผนที่เพื่อให้บริการทางอินเทอร์เน็ต ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของประเทศ ก่อนหน้านี้กูเกิลได้รับอนุญาตให้เข้าบันทึกภาพในค่ายทหารต่างๆ แต่หลังจากที่มีการค้นพบภาพ 3 มิติ ของค่ายทหารฟอร์ท แซม ฮุสตัน ในรัฐเท็กซัส บนบริการ "กูเกิล แม็ปส์" ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยตั้งแต่จุดควบคุม เครื่องกีดขวาง ไปจนถึงกองบัญชาการสูงสุด กูเกิลจึงถูกแบนไม่ให้ทำการบันทึกภาพในค่ายทหารอีก แม้จะถอดภาพดังกล่าวออกแล้วก็ตาม นอกจากบริการ "กูเกิล แม็ปส์" แล้ว กูเกิล ยังมีบริการ "สตรีท วิว" ซึ่งผู้ใช้งานสามารถชมพื้นที่ต่างๆในสหรัฐในมุมมองระดับสายตา รวมถึง "กูเกิล เอิร์ธ" ซึ่งผู้ใช้งานสามารถดูทุกพื้นที่ทั่วโลกได้จากภาพ 3 มิติจากดาวเทียม บริการดังกล่าวก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ตั้งแต่ผู้ที่ไปปรากฏในภาพซึ่งกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวของตน ไปจนถึงรัฐบาลต่างๆ ซึ่งเป็นห่วงความปลอดภัยของประเทศ "เราไม่มีปัญหากับ กูเกิล เอิร์ธ" แกรี่ รอสส์ โฆษกกองบัญชาการภาคเหนือของสหรัฐ กล่าว "แต่ถึงแม้ว่ามันจะมีประโยชน์ แต่ก็ควรมีการใช้งานอย่างพอเหมาะพอควร" สำนักข่าวบีบีซีรายงาน