"พิธา"ชี้นายกฯ ดำเนินนโยบายผิดพลาดส่งผลเศรษฐกิจย่ำแย่ หนี้ครัวเรือนพุ่ง-เอื้อประโยชน์พวกพ้อง

ข่าวการเมือง Monday February 24, 2020 19:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ อดีตพรรคอนาคตใหม่ กล่าวในการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า การดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของรัฐบาลนอกจากจะไม่มีความยั่งยืนในเรื่องสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังไม่มีความยั่งยืนทางเศรษฐกิจด้วย โดยเปิดทางให้ต่างชาติเข้ามาทุ่มตลาดเพื่อสร้างฐานลูกค้า ส่วนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ก็มีอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีเพียง 5% เท่านั้นจากวงเงินลงทุน 7 แสนล้านบาท

การบริหารงานด้านเศรษฐกิจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ก่อให้เกิดปัญหารวยกระจุกจนกระจาย และมีการใช้อำนาจเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่พวกพ้อง ในปี 62 ถือว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) หลุดจากเป้าที่คาดการณ์ไว้ 3.4% มาอยู่ที่ 2.8% และปีนี้คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวเพียง 1.5% ซึ่งเมื่อถึงเวลาจริงก็อาจไม่เหลือเลย

"ไม่ว่า GDP จะเป็นอย่างไร แต่ความเหลื่อมล้ำและจำนวนคนจนต้องไม่เพิ่มขึ้น" นายพิธา กล่าว

นายพิธา กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจขณะนี้แย่พอๆ กับตอนที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 57 และแย่กว่าช่วงที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยมีสัดส่วนหนี้สินต่อครัวเรือนเพิ่มขึ้นและอัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง รวมถึงการขยายตัวของ GDP ภาคเกษตรอยู่ในระดับต่ำมาก เทียบกับช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งที่ยังขยายตัวได้ดี

"ใครกันแน่ที่มั่นคง ใครกันแน่ที่มั่งคั่ง และใครกันแน่ที่ยั่งยืน" นายพิธา กล่าว

นายพิธา กล่าวว่า รู้สึกเป็นห่วงแรงงานที่เพิ่งจบการศึกษา, เกษตรกรที่มีสัดส่วนหนี้สินเพิ่มจากหัวละ 1 แสนบาทมาเป็น 1.5 แสนบาท, ผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาด้านการส่งออก ขณะที่ข้าราชการเองก็ไม่ได้มีความมั่นคง เพราะมีปัญหาทุจริตในเรื่องสวัสดิการ

"เหมือนเอายาพาราฯ ไปรักษาความเป็นโรคมะเร็งก็คงช่วยไม่ได้ เพราะงบประมาณรวมกันราว 5 แสนล้านใช้ไปไม่มีประสิทธิภาพ" นายพิธา กล่าว

ขณะที่นายพิธา ตั้งคำถามว่า จริงหรือไม่ที่กลุ่มซีพีประมูลรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบินไม่คุ้มค่าในการลงทุนจนต้องเพิ่มที่ดินมักกะสันให้ไปพัฒนาอีก 400 ไร่ และลดภาษีเงินได้ให้อีก 1.5% ขณะที่ปัญหา PM2.5 มาจากนโยบายรัฐบาลที่ต้องการเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยแทนข้าว ทำให้ปริมาณ PM 2.5 เพิ่มขึ้นอีก 5 เท่า นอกจากนี้ยังเพิ่มปริมาณการใช้สารพาราควอทด้วย ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อเจ้าของโรงงานน้ำตาล

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาผลกระทบจากการทำเหมือง 970 แห่งทั่วประเทศ ซึ่ง ตาม พ.ร.บ.เหมืองแร่ปี 60 เปิดทางให้เอกชนไม่ต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ElA

"เศรษฐกิจของประเทศต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง มีดผ่าตัดต้องคมพอที่จะตัดมะเร็งร้าย" นายพิธา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ