น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า การใช้เงิน 6 แสนล้านบาทจาก พ.ร.ก.เงินกู้ เพื่อเยียวยานั้นรัฐบาลควรทำให้ครบทั้ง 4 กลุ่ม 1.กลุ่มผู้ได้รับความเดือดร้อนตามมาตรการเยียวยา 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ได้แก่ ลูกจ้างชั่วคราว อาชีพอิสระ นอกระบบประกันสังคม ข้อมูลกระทรวงการคลังพบว่า มีผู้ลงทะเบียนผ่านเกณฑ์แล้ว 12.8 ล้านราย และจะจ่ายเงินให้ครบช่วงกลางเดือนพฤษภาคม แต่ยังมีผู้มีสิทธิ์ที่ตกหล่นยังไม่ได้รับความช่วยเหลืออีกเป็นจำนวนมาก พรรคเพื่อไทยขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการชดเชยให้ครบถ้วนตามความเป็นจริงโดยด่วน เชื่อว่ารัฐสามารถผ่อนปรนมาตรการและขยายความช่วยเหลือตามความเป็นจริงได้ถึง 20 ล้านคน
2.กลุ่มพี่น้องเกษตรกรที่มี 7 ล้านครอบครัว ที่ผ่านมาเจอปัญหาทั้งสินค้าเกษตรราคาตกต่ำ ภัยแล้ง น้ำท่วม ดังนั้นการเยียวยาล่าสุด รัฐบาลยังค้างจ่าย ภัยแล้ง น้ำท่วมอยู่ด้วย ขณะนี้ยังมาประสบปัญหาไวรัสโควิดซ้ำเติม ทำให้พี่น้องเกษตรกรเดือดร้อนเป็นทวีคูณ ขอให้รัฐบาลชดเชย 3.5 หมื่นบาทต่อครอบครัว
3.ผู้ประกันตนในระบบสังคมตามมาตรา 33 มีทั้งสิ้นประมาณ 11 ล้านคน ยังมีผู้ไม่ได้รับการชดเชยอีก 6 ล้านคน ขอให้รัฐบาลชดเชยให้ครบถ้วน
และ 4.กลุ่มเปราะบางทางสังคม อาทิ ผู้พิการ ผู้ไร้ที่พึ่ง ผู้ที่ตกสำรวจ ขอให้ผู้มีอำนาจสั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบสำรวจ ให้การช่วยเหลือตามระเบียบโดยด่วน อย่าทิ้งขว้าง เพราะเขาเหล่านั้นก็เป็นคนไทยเหมือนกัน
"พ.ร.ก.เงินกู้ 6 แสนล้านบาท ถ้ารัฐบาลเยียวยาผู้เดือดร้อนเป็นเรื่องที่ดำเนินการได้เลย รวมทั้งรัฐบาลต้องรีบชดเชยผู้ตกสำรวจ ผู้อุทธรณ์สิทธิ์ ผู้ที่อยู่ในประกันสังคมตามมาตรา 33 มั่นใจรัฐบาลจะจ่ายครบ แต่การจ่ายเงินเยียวยาต้องรวดเร็ว ทันเวลา เพราะเขาจะได้เอาเงินไปดำรงชีพ ขณะเดียวกันรัฐบาลควรใช้มาตรการเชิงรุก ค้นหาผู้เดือดร้อนแท้จริง ก่อนมีปัญหามากกว่านี้
ที่ผ่านมารัฐบาลพูดถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง แต่หลีกเลี่ยงพูดถึงตัวเลขคนเดือดร้อนจากการบริหารของตัวเอง สังคมไทยรู้สึกเสียใจต่อท่าทีนายกรัฐมนตรี ที่เมินเฉยต่อปัญหาการฆ่าตัวตายที่ทำเหมือนเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ทั้งที่สาเหตุสำคัญสังคมไทยรู้ว่ามาจากความผิดพลาดและล่าช้า การใช้เงิน พ.ร.ก.เงินกู้ 6 แสนล้านบาท รัฐบาลต้องชดเชยให้ผู้ได้รับผลกระทบตามสิทธิโดยด่วนให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 10 พ.ค." น.อ.อนุดิษฐ์ กล่าว
ด้านนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคฯ กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลยังแก้ไม่ได้ คือ การเยียวยาล้มเหลว ล่าช้า ไม่ครอบคลุม ไม่ทันสถานการณ์ วันนี้ที่กรมประชาสัมพันธ์ยังมีประชาชนจำนวนมากเข้าแถวรอรับสิทธิ์จำนวนมาก การย้ายไปกรมประชาสัมพันธ์เป็นการประจานตัวเอง ประชาสัมพันธ์ด้านลบว่าการทำงานของรัฐบาลล้มเหลว ถ้าไม่จัดระเบียบ ซอยอารีย์แตกแน่นอน หากปล่อยถึงวันที่ 15 พ.ค. ท้ายแถวอาจยาวถึงทำเนียบรัฐบาล ทั้งนี้รัฐบาลควรให้ผู้ที่เข้าไม่ถึงไปอุทธรณ์ได้ที่ศูนย์ดำรงธรรม ขอให้ใช้หัวใจในการคัดเลือก ไม่ใช่ใช้เอไอ เพราะตอนนี้มีประชาชนที่กรอกรายละเอียดจะต้องรอไปถึง 15 พ.ค.
ส่วนการจ่ายเงินผู้ว่างงาน ผู้ถูกเลิกจ้างของกองทุนประกันสังคม กองทุนดังกล่าวดูแลโดยพรรคเล็กเลยมีการแซวกันว่าที่จ่ายเงินล่าช้าเพราะรัฐมนตรีชื่อหม่อมเต่าหรือเปล่า การจ่ายเงินจึงค่อยๆ คืบคลานไป และมีคนถาม การจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมไม่รู้ว่าดีหรือไม่ เพราะจ่ายไปแล้วกลับไม่ได้รับการเยียวยา 5 พันบาท และมีคำถามเงินในกองทุนประกันสังคมหายไปไหน กองทุนประกันสังคมเอาไปเล่นหุ้นจนหมุนเงินไม่ทันใช่หรือไม่
"ปัญหาของกองทุนประกันสังคมมีปัญหาเหมือนกระทรวงการคลังที่รอการเยียวยาล่าช้าก็โทษเอไอ แต่กองทุนประกันสังคมกลับโทษคอมพิวเตอร์ แม้การเยียวยาควรมีหลักเกณฑ์แต่ไม่ควรสร้างเงื่อนไขไปเรื่อยๆ เราไม่อยากเห็นภาพ เมื่อปิดจ็อบจากกระทรวงการคลัง จะมีการไปตามต่อกองทุนประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ส่วนเกษตรกรไปตามที่กระทรวงเกษตร สุดท้ายไปจบที่ทำเนียบรัฐบาล"โฆษกพรรคฯ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ เร่งให้กระทรวงต่างประเทศช่วยเหลือคนไทยในต่างแดน คำถามคือเพิ่งตื่นหรืออย่างไร เราเรียกร้องให้ไปรับคนไทยกลับมาเป็นเดือนๆ แต่รัฐบาลสร้างเงื่อนไข เพิกเฉย นิ่งนอนใจ ทั้งที่หลายประเทศส่งเครื่องบินไปรับคนในประเทศกลับ แต่รัฐบาลดูดาย ปล่อยให้คนไทยในต่างประเทศตกระกำลำบาก แม้ดูเหมือนรัฐจะรับคนไทยกลับประเทศ แต่ในความเป็นจริง คนไทยช่วยเหลือตัวเอง รัฐบาลทำเรื่องง่ายเป็นเรื่องยาก การฟังพรรคเพื่อไทยฝ่ายค้านเหมือนฟังประชาชน เพราะการดำเนินการใดๆที่ฝืนจากความเป็นจริง รัฐบาลก็จะปรับเงื่อนไขไปเรื่อยๆ ไม่รู้จบ ถ้าใช้เงินนำหน้า สติปัญญาตามหลัง ไร้การตรวจสอบ ปัญหาเหล่านี้คงจะไม่จบสิ้นไป