"วิโรจน์ ลักขณาอดิศร" ชี้รบ.ออกพ.ร.ก.กู้เงินเอื้อนายทุน จี้ตั้งกมธ.วิสามัญตรวจสอบพิสูจน์ความโปร่งใส

ข่าวการเมือง Wednesday May 27, 2020 16:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เห็นด้วยกับการกู้เงินมาใช้แก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ แต่สิ่งที่น่ากังวลและเป็นปัญหาคือ รัฐบาลมีฐานคิดที่ลักลั่นสองมาตรฐาน นายทุนมาก่อน ประชาชนรอไปก่อน ฐานคิดที่คิดว่าตนเองเป็นเจ้าของเงิน และกำลังเจียดเงินเพื่อสงเคราะห์ประชาชนใต้การปกครอง โดยให้ประชาชนรอความเมตตาจากรัฐเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และเมื่อประชาชนด้วยกันทนไม่ได้ นำอาหารออกมาแจกจ่ายช่วยกันเองก็ยังถูกจับกุมดำเนินคดี

ถ้ารัฐบาลทำงานเป็น พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ ทั้งกู้เงิน ซอฟท์โลน และพยุงหุ้นกู้ จะต้องวางแผนให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 และ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564

"กฎหมายทั้ง 5 ฉบับนี้ต้องมีแผนให้สอดคล้องและมียุทธศาสตร์ร่วมกัน สัญญาณที่รัฐบาลควรส่งมาที่สุดในตอนนี้ ก็คือ การสื่อให้ประชาชนรับรู้ว่ารัฐบาลกำลังพยายามที่จะปกป้องสภาพการจ้างงาน"

นายวิโรจน์ กล่าวว่า พรรคก้าวไกลมองว่า "บาซูก้างบประมาณ" ก้อนนี้เป็นเครื่องมือที่จำเป็น แต่ต้องทำอย่างรอบคอบ ข้อเสนอของพรรคก้าวไกลคือ จัดสรรเงินใหม่ โดยรวมเอาเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท เข้ากับเงินที่ได้จากการโอนงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ อีก 88,000 ล้านบาท เป็น 1.088 ล้านล้านบาท

โดยเงินก้อนนี้ถูกใช้ไปแล้ว 345,000 ล้านบาท กับมาตรการจ่ายเงินเยียวยาเราช่วยกัน และเยียวยาเกษตรกร เหลือที่จัดสรรได้อีก 743,000 ล้านบาท โดยทางพรรคฯ เสนอวิธีจัดสรรเพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนสูงสุด โดยเงินก้อนแรกวงเงิน 100,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข แบ่งเป็น เงินจำนวน 67,000 ล้านบาท เพื่อแจกจ่ายวัคซีนฟรีสำหรับทุกคน และเงิน 33,000 ล้านบาท สำหรับจัดหาอุปกรณ์การแพทย์และเพิ่มสวัสดิการให้บุคลากรสาธารณสุข

ส่วนก้อนที่สองวงเงิน 643,000 ล้านบาท เยียวยาประชาชน แบ่งเป็น ส่วนแรก 504,000 ล้านบาท เยียวยาประชาชนถ้วนหน้าคนละ 3,000 บาท นาน 3 เดือน ยกเว้นข้าราชการ ส่วนเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จะได้รับเงิน 1,000 บาท และเงินอีก 120,000 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการ SMEs จ่ายเงินเดือนลูกจ้าง 50% ของเงินเดือน แต่ไม่เกินรายละ 5,000 บาท นาน 3 เดือน โดยลูกจ้างต้องเงินเดือนไม่เกิน 30,000 บาท ภายใต้เงื่อนไขว่านายจ้างห้ามเลิกจ้างในช่วง 3 เดือนที่รับเงินสมทบค่าจ้าง และในก้อนสุดท้าย วงเงิน 19,000 ล้านบาท ใช้จัดสรรอาหารฟรีให้ประชาชน

"ในส่วนงบประมาณสำหรับฟื้นฟูโครงสร้างเศรษฐกิจโดยรวม สามารถออกเป็น พ.ร.บ.ฉบับใหม่เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยเฉพาะ รวมทั้งสามารถใช้จากงบประมาณแผ่นดินปี 2564 แทนได้ ภายใต้ข้อเสนอการจัดสรรงบประมาณแบบพรรคก้าวไกลที่กล่าวมานั้น จะทำให้ประชาชนได้รับเงินเยียวยาอย่างทั่วถึง ไม่ต้องพิสูจน์สิทธิ์ ไม่ต้องรอนานกว่าจะได้เงิน บุคลากรด้านสาธารณสุขมีเครื่องมือเพียบพร้อมในการรับมือโควิด-19 ส่วนธุรกิจรายย่อยก็จะยังสามารถประคองตัวไปได้ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ ทุกคนจะมีความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต และพร้อมจะให้ความร่วมมือกับมาตรการควบคุมโรค" นายวิโรจน์ กล่าว

นายวิโรจน์ ระบุว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทที่รัฐบาลเขียนมานี้มีรายละเอียดอยู่เพียง 7 หน้า คิดเป็นหน้าละ 1.4 แสนล้านบาท มีทั้งสิ้น 148 บรรทัด คิดเป็นบรรทัดละ 6,800 ล้านบาท นี่เป็นอีกเหตุผลสำคัญที่พรรคก้าวไกลยื่นญัตติด่วนขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามตรวจสอบการใช้งบประมาณ และมาตรการแก้ไขปัญหาภายใต้วิกฤติการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และหากรัฐบาลยืนยันในความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณของตัวเอง ตามที่ปรากฎในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 พ.ค.จริงก็ควรต้องให้ความร่วมมือกับสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งท่าทีของรัฐบาลต่อการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญคณะนี้ จะเป็นจุดชี้ขาด การตัดสินใจของพรรคก้าวไกลว่า จะลงมติอย่างไรกับ พ.ร.ก.กู้เงิน ฉบับนี้ เพราะ 'ประเทศไทยต้องชนะ' ในคำว่าประเทศไทยนั้น คือประชาชนต้องชนะไปด้วยกัน

นายวิโรจน์ ตั้งข้อสังเกตว่า การที่นายกรัฐมนตรีชูสองแขนแล้วพูดว่า 'ประเทศไทยต้องชนะ' นั้น คำว่าประเทศไทย หมายความถึงประชาชนด้วยหรือไม่ เพราะถ้าประชาชนชนะ แล้วทำไมจึงมีภาพของการไปต่อแถวร้องทุกข์ด้วยสายตาที่เลื่อนลอยสิ้นหวังน้ำตาคลอเบ้าที่หน้ากระทรวงการคลัง สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ชัยชนะของประชาชน เป็นเพียงการได้มาในสิ่งที่รัฐบาลอยากได้ โดยยืนอยู่บนความทุกข์ยากของประชาชน เป็นการประกาศชัยชนะของรัฐบาล โดยที่เอาประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อยมาเป็นเครื่องเซ่น เอากิจการขนาดเล็ก มาเป็นเครื่องสังเวย

นายวิโรจน์ กล่าวว่า คำว่า 'เราไม่ทิ้งกัน' ของรัฐบาล ที่แท้จริงก็คือต้องขยายความว่า 'เราไม่ทิ้งกัน ส่วนพวกมันก็ให้ทิ้งไป' ภายใต้วิธีคิดของรัฐบาลนี้ การเข้าไปอุ้มชูนายทุนทำได้ง่ายดายและรวดเร็ว เช่น กรณีบอร์ดการท่าอากาศยาน เมื่อวันที่ 19 ก.พ.ได้มีมาตรการปรับลดค่าตอบแทนให้กับผู้ประกอบการสินค้าปลอดภาษีในสนามบิน ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 63 และค่าเช่าแบบคงที่ ให้ปรับลดลง 20% ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.63 ถึงวันที่ 31 ม.ค.64 รวมทั้งค่าผลตอบแทนแบบเปอร์เซ็นต์ ให้ยกเว้นเงื่อนไขขั้นต่ำรายเดือน และรายปี ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.63 ถึงวันที่ 31 มี.ค.65 แถมยังให้เลื่อนการจ่ายค่าผลประโยชน์ตอบแทน เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยไม่มีค่าปรับอีกด้วย

ทั้งนี้ มีการประเมินกันว่าจะทำให้กำไรของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ในปี 63-65 รวมกันแล้วลดลงถึง 22,536 ล้านบาท ทำให้ราคาหุ้นของ AOT ปรับตัวลดลงทันทีในวันที่ 20 ก.พ.63 คือ 4.80% คิดเป็นความเสียหายที่กระทรวงการคลังต้องรับรู้ทันทีถึง 32,500 ล้านบาท

"เงินจำนวนนี้ไม่ใช่น้อยๆ เมื่อคำนวณแล้วสามารถเอามาเยียวยาประชาชนจำนวน 5,000 บาท ได้ถึง 2.2 ล้านคน ซื้อหน้ากากอนามัยได้ 8 พันล้านชิ้น ซื้อชุด PPE ให้กับหมอได้ 90 ล้านชุด ซื้อข้าวสารถุงละ 5 ก.ก.ได้ 216 ล้านถุง สามารถแจกได้ทุกครัวเรือนในประเทศไทยที่มีอยู่ 21 ล้านครัวเรือน ได้ครัวเรือนละ 10 ถุง อยู่ได้นานถึง 5 เดือน ถ้าเทียบกับกรณีสินค้าปลอดภาษีในสนามบินนั้น เกษตรกรกว่าจะได้รับการอนุมัติการเยียวยาก็ต้องรอจนถึงวันที่ 28 เม.ย. หลังผู้ประกอบธุรกิจที่สนามบินถึง 2 เดือนเศษ" นายวิโรจน์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ