ผู้นำฝ่ายค้านฯ สับรัฐบาลจัดทำงบฯปี 64 ไม่ตอบโจทย์แก้ปัญหาผลกระทบโควิด-19

ข่าวการเมือง Wednesday July 1, 2020 14:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวในการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 64 ว่า การจัดทำงบประมาณต้องให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในช่วงเวลานั้นๆ ซึ่งปัจจุบันวิกฤติด้านสาธารณสุขที่ถูกรับมือโดยมาตรการรุนแรงเกินกว่าเหตุของรัฐบาลกำลังจะนำประเทศไทยไปสู่อีกวิกฤตหนึ่ง คือวิกฤตเศรษฐกิจ การจัดทำงบประมาณในครั้งนี้ต้องเป็นเครื่องมือที่สามารถรองรับวิกฤตเศรษฐกิจให้ได้ เพราะจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบไปธุรกิจทุกภาคส่วน ทั้งภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม และภาคการเกษตร ภาคท่องเที่ยว และภาคส่งออก เรียกได้ว่า ทั้งหมดทุกอย่างพังพินาศไปพร้อมๆ กัน

แม้ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบน้อยในด้านการระบาดของโรค แต่ผลกระทบด้านเศรษฐกิจกลับติดอันดับต้นๆ ของโลก ซึ่งเกิดจากมาตรการที่ผิดพลาดของรัฐบาล เป็นมาตรการที่มีต้นทุนสูงเกินความจำเป็น โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นเบื้องต้นคาดว่าถึงระดับ 2 ล้านล้านบาท โดยล่าสุดธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ GDP ปี 63 จะหดตัวติดลบ 8.1% ติดลบมากกว่าช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง ตอกย้ำความผิดพลาดของรัฐบาลในการรับมือโควิด-19

ขณะนี้มีเรื่องที่ท้าทายรัฐบาล คือ มาตรการรองรับผลกระทบด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างไร และมีประสิทธิภาพหรือไม่ แม้รัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท และ พ.ร.ก.เกี่ยวกับมาตรการทางการเงินอีก 2 ฉบับ รวมถึง พ.ร.บ.โอนงบปี 63 เพื่อรองรับผลกระทบทางเศรษฐกิจ แต่ตนเองมองว่ารัฐบาลใช้มาตรการแบบสักแต่ว่าได้ทำ แต่ไม่มองถึงประสิทธิภาพที่ปลายทาง มีความผิดพลาด และมีช่องโหว่ และเข้าไม่ถึงกลุ่มเป้าหมายอยู่มาก

"ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 จะมากหรือน้อย ฟื้นตัวเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่คาถาที่รัฐบาลต้องท่องไว้ 3 อย่าง คือ ป้องกันธุรกิจล้ม รักษาการจ้างงาน ป้องกันผลกระทบที่ลามถึงระบบการเงิน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ธุรกิจล้มกันระยาว แรงงานตกงานมหาศาล และกำลังจะลามถึงสถาบันการเงินในระยะต่อไป หลังหมดมาตรการเยียวยาและพักหนี้ เราจะเห็นเสถียรภาพของระบบธนาคารที่มีปัญหา ถ้าเกิดขึ้น มันคือเรื่องใหญ่ หนี้ภาคเอกชนไม่ได้เพิ่มขึ้นเร็ว แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ หนี้เสียที่จะพุ่งทะยานขึ้น นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว ผิดพลาดไปแล้ว แก้ไขไม่ทันแล้ว" นายสมพงษ์ กล่าว

ผู้นำฝ่ายค้านฯ กล่าวว่า การจัดทำงบประมาณครั้งนี้ สิ่งสำคัญในระยะสั้น ต้องรองรับคนตกงานจำนวนมากได้ และต้องสามารถขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะกลาง ระยะยาวได้ และต้องดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และการจัดทำงบประมาณในภาวะวิกฤต หลักคิดต้องแตกต่างจากภาวะปกติ เรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่า ผลกระทบจากโควิด-19 จะลามถึงสถาบันการเงินแค่ไหน และจะกลับมาฟื้นตัวได้หรือไม่ แต่งบประมาณ ปี 64 ฉบับนี้กลับไม่ได้ตอบโจทย์เหล่านี้เลย ยังคงใช้วิธีการจัดทำงบประมาณแบบเก่าๆ ไม่ได้มีการปรับให้เหมาะกับสภาวการณ์วิกฤต นอกจากนั้นยังยึดโจทย์เดิมๆ ที่ต้องปฏิบัติตามยุทธศาสตร์ชาติ และยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณแบบเก่าๆ ไม่ทันต่อสถานการณ์

งบประมาณ ปี 64 ยังถูกจัดสรรแบบโบราณ คร่ำครึ มุ่งไปสู่การก่อสร้าง ขุดลอกคูคลอง รวมถึงการจัดอบรมต่างๆ เสมือนทำไปวันๆ ทำตามหน้าที่ไปเรื่อยๆ ตามที่หน่วยราชการเสนอมา ตามระบบรัฐราชการ แต่รัฐบาลขาดการมองไปที่ภาพใหญ่กว่านั้น คือ อนาคตของไทยจะก้าวไปในทิศทางไหน จะรองรับธุรกิจที่จะเกิดขึ้นใหม่จากพฤติกรรมผู้บริโภคใหม่อย่างไร สินค้าการเกษตรจะถูกยกระดับอย่างไร เพื่อให้เกษตรสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องพึ่งการอุดหนุนภาครัฐไปเรื่อยๆ อุตสาหกรรมใดจะเป็นเป้าหมายในระยะ 5 ปีข้างหน้า เราจะเอาประเทศไทยไปอยู่ส่วนไหนของห่วงโซ่อุปทานใหม่ของโลกไ นายสมพงษ์ กล่าว

งบประมาณปี 64 ก็ยังขาดแผนงานเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ ซึ่งเมื่อประชาชนขาดทักษะในการสร้างรายได้ ประเทศไทยไม่มีทางก้าวหลุดพ้นประเทศรายได้ปานกลางได้ จึงอยากฝากไว้ว่า งบประมาณควรถูกใช้ไปกับการสร้างทักษะเพื่อสร้างงานที่มีผลผลิตต่อหน่วยสูง เพื่อให้คนไทยมั่งคั่งขึ้นแบบถาวรและยั่งยืน

งบประมาณปี 64 ต้องไม่ถูกใช้ไปแบบตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ เพื่อประโยชน์ทางการเมืองของพรรคฝ่ายรัฐบาล โดยนโยบายสารพัดแจกเพื่อหวังผลด้านคะแนนเสียงและความนิยม เสมือนเป็นการรีดภาษีประชาชนไปซื้อเสียงล่วงหน้าเพื่อตัวเอง และฝ่ายค้านไม่อยากเห็นนโยบายชิม-ช็อป-ใช้ แจกเงินเที่ยว รวมถึงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในส่วนที่เป็นทางผ่านของเม็ดเงินไปสู่กลุ่มทุนใหญ่ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาล เป็นมาตรการเพื่อตนแงและพวกพ้อง โดยใช้ประชาชนและภาษีประชาชนเป็นเครื่องมือ เหมือนที่กระทำมาในอดีต

ผู้นำฝ่ายค้านฯ ตั้งคำถามว่า งบประมาณปี 64 มีแผนรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างไร เพราะสิ่งที่งบประมาณต้องเข้าไปดูแลให้มากคือ ด้านอุปสงค์ ด้านกำลังซื้อ ด้านการสร้างงานที่มีผลผลิตต่อหน่วยสูง รัฐบาลมีแผนเหล่านี้อย่างไร หรือคิดเพียงแจกเงินไปเรื่อยๆ เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ รวมถึงมีแผนในการรับมือธุรกิจที่ล้มตายจำนวนมากอย่างไร และหากมาตรการเยียวยาหมดอายุลง งบประมาณปี 64 จะรับมือผลกระทบถึงสถาบันการเงินอย่างไร หากมีการผิดนัดชำระหนี้จำนวนมาก จะทำอย่างไร

นอกจากนี้งบประมาณปี 64 มีแผนสร้างการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะกลางเพื่อฟื้นตัวจากโควิด-19 อย่างไร และมีการวางแผนการรับมือภาวะราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำอย่างไร มีงบประมาณสำหรับพัฒนาผลผลิตการผลิตต่อหน่วยของเกษตรกรหรือไม่ หรือแค่คิดแบบเดิมๆ ทำแบบเดิมๆ แล้วเกษตรกรก็ยากจนแบบเดิมๆ ต่อไป

"คำถามเหล่านี้ ผมไม่เห็นคำตอบอยู่ในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 64 หากตอบคำถามเหล่านี้ไม่ได้ งบประมาณฉบับนี้ก็เรียกได้ว่า สักแต่ทำให้เสร็จๆ อีกครั้ง ซึ่งเป็นอันตรายกับประเทศ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตเช่นนี้ หากรัฐบาลไม่สามารถชี้แจงต่อคำถามข้างต้น และหากไม่นำกลับไปแก้ไข ผมไม่อาจจะสนับสนุบงบประมาณฉบับนี้ให้ผ่านไปได้" นายสมพงษ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ