นายกฯ พร้อมรับฟังทุกข้อเสนอแนะร่วมฟื้นศก. ยันรัฐบาลจะใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า-โปร่งใส

ข่าวการเมือง Wednesday July 1, 2020 15:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวภายหลังการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 64 ของสมาชิกฝ่ายค้านว่า ขอบคุณและยินดีรับฟังทุกข้อเสนอแนะ ซึ่งจากที่หลายหน่วยงานได้ประเมินตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งจากธนาคารโลก ธนาคารแห่งประเทศไทย ภาคธุรกิจเอกชน ที่ไปในทิศทางเดียวกัน คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจจะลดลงอย่างแน่นอน เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ในขณะนี้อันเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องยอมรับ

ในส่วนการใช้งบประมาณปี 64 และงบประมาณปี 63 ในไตรมาสสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่ รวมถึงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ก็ต้องนำมาดำเนินการต่อ และต้องใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งมาตรการต่างๆ ที่ออกมาเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น ส่งผลให้รัฐจัดเก็บรายได้ลดลง ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรรองรับและหาแนวทางจัดเก็บรายได้เพิ่มเติม เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และโลจิสติกส์ และต้องพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้ประเทศฟื้นตัวเร็วขึ้น และมีการลงทุนมากขึ้น

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในส่วนของงบประมาณปี 64 จะพิจารณาใช้งบประมาณอย่างเหมาะสม ตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ และสอดคล้องกับแผนงานที่กำหนดไว้ พร้อมย้ำจะใช้งบประมาณทั้งหมดที่มีอย่างคุ้มค่า โปร่งใส และเหมาะสมในแต่ละโครงการ สิ่งใดที่ฝ่ายค้านต้องการให้ปรับปรุง ก็ขอให้เสนอแนวคิดวิธีการมาอย่างละเอียดเพื่อประกอบการพิจารณา โดยขอให้ทุกคนช่วยกันรวมไทยสร้างชาติ ส่วนที่มีการท้วงติงว่ารัฐหว่านงบประมาณไปยังโครงการต่างๆ นั้น ต้องย้อนถามว่าประชาชนได้รับเงินตรงตามวัตถุประสงค์หรือไม่ โดยสิ่งสำคัญคือการบริหารจัดการหนี้สาธารณะให้ได้ และต้องทำให้บ้านเมืองต้องสงบ ถึงจะมีการเข้ามาลงทุน

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ทราบดีถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคแรงงานที่ถูกลดค่าจ้าง ดังนั้นจึงต้องเร่งฟื้นฟูภาคธุรกิจเพื่อให้เกิดการจ้างงานต่อเนื่อง ส่วนการค้าการลงทุนและการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวหลังโควิดคลี่คลาย ก็เป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อให้ประเทศไทยกลับมาน่าลงทุนมากขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์ เน้นย้ำความร่วมมือจากฝ่ายการเมืองที่ต้องไม่เข้าไปแทรกแซงการทำงานการใช้จ่ายงบประมาณของกระทรวงและท้องถิ่น ส่วนกรณีการจัดสรรงบประมาณกระทรวงกลาโหม และการมีกำลังพลสนับสนุนงานนั้น เห็นว่าทหารไทยมีหน้าที่ทั้งการพัฒนาและป้องกันประเทศ จำเป็นต้องมีผู้ทำหน้าที่ดูแลเขตแดนประเทศ แม้ในช่วงที่สถานการณ์สงบ เพราะหากไม่มีกำลังพลทางทหารจะไม่มีส่วนงานใดทำหน้าที่ดังกล่าว

ส่วนการตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลมีกฎหมายหลายฉบับในการควบคุมดูแลประเทศในขณะนี้ โดยเฉพาะ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น นายกรัฐมนตรี เห็นว่า คนส่วนใหญ่ก็ไม่เดือนร้อนหรือได้รับผลกระทบ มีเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้นที่เดือดร้อน และขอให้ไปดูเนื้อหารายละเอียดของ พ.ร.ก.ดังกล่าวว่าเป็นอย่างไร ซึ่งหากไม่นำมาบังคับใช้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คงไม่ดีขึ้นอย่างเช่นทุกวันนี้

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี ปฏิเสธแสดงความเห็นกรณีที่ฝ่ายค้านตั้งฉายาว่า "บิดาแห่งความเหลื่อมล้ำ" "ผู้นำแห่งการก่อหนี้" และจะไม่ขอตั้งฉายาให้กับใครทั้งสิ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ