"ธนาธร"ประกาศจุดยืนเคียงข้าง นศ.แนะเปิดพื้นที่รับฟังความเห็นก่อนถึงทางตัน

ข่าวการเมือง Friday August 14, 2020 17:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวถึงกรณีการชุมนุมของนักศึกษาว่า ส่วนตัวพร้อมสนับสนุนและยืนเคียงข้างนักศึกษาตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือหยุดคุกคามประชาชน แก้ไขรัฐธรรมนูญ และยุบสภา เพราะเป็นการแสดงออกตามสิทธิเสรีภาพ

ทั้งนี้ การคุมคามด้วยการจับกุมประชาชนที่ออกมาเรียกร้องไม่ใช่ทางออกในการแก้ปัญหา แต่เป็นการซ้ำเติมปัญหาด้วยการราดน้ำมันลงกองไฟ จึงอยากให้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างมีเหตุผล ต้องรับฟังความเห็นเหล่านี้อย่างตรงไปตรงมา สิ่งที่คนไทยต้องทำวันนี้ คือ ต้องมองข้อเรียกร้องของนักศึกษาด้วยความหวังดี การที่ไม่รับฟังนักศึกษา คือการไม่เปิดโอกาสให้สังคมมองเห็นทางออกจากความขัดแย้ง

"สิ่งที่พวกเราต้องทำในวันนี้คือ มองสิ่งที่เขาเรียกร้องด้วยความหวังดี เพราะการที่ไม่ฟังนักศึกษา ไม่เปิดโอกาสให้สังคมมองเห็นทางออกจากความขัดแย้งอย่างไร ไม่นำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยต่างหากที่จะนำบ้านเมืองสู่วิกฤตทางตัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจว่าพร้อมจะประนีประนอม พร้อมรับฟังมากเท่าไหร่ เพราะถ้าไม่พร้อมเลย ข้อเรียกร้องง่ายๆ ที่พวกเขาเรียกร้องไม่เกิดขึ้น สังคมก็จะไม่มีทางออก"

นายธนาธร ยังกล่าวถึงคำแถลงของนายกรัฐมนตรีต่อการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาเมื่อวานนี้ (13 ส.ค.) ว่าสิ่งที่สังคมไทยต้องการตอนนี้ คือการเปิดใจรับฟังด้วยเหตุด้วยผล การไม่เปิดใจรับฟัง มันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธีได้อย่างไร เช่น มีการตั้งกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อรับฟังความเห็นนักศึกษา แต่ในขณะเดียวกันก็ไปดำเนินการจับกุม แสดงให้เห็นว่าไร้ความจริงใจในการรับฟังความคิดเห็น

"คุณประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดด้วยมาตรา 44 มา 5 ปี ก่อนการเลือกตั้ง แล้วก็อยู่ในตำแหน่งโดยที่มีอำนาจในการบริหารมาปีกว่า ถ้ามันจะสำเร็จ ถ้ามันจะทำให้เศรษฐกิจไทยเดินไปข้างหน้ารับมือกับโควิดได้ มันทำสำเร็จไปนานแล้ว" นายธนาธร กล่าว

ขณะที่คณาจารย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 23 รายได้ร่วมเข้าชื่อออกแถลงการณ์ต่อสถานการณ์ความขัดแย้งเกี่ยวกับการใช้เสรีภาพในการชุมนุม โดยเนื้อหาระบุว่า ทุกภาคส่วนของสังคมไทยควรพยายามอย่างถึงที่สุดในการเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และร่วมกันหาทางออกสำหรับปัญหาความแตกต่างและความขัดแย้งทางความคิด และร่วมกันป้องกันการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาในทุกรูปแบบ

นอกจากนี้ ทุกภาคส่วนของของสังคมมีหน้าที่ต้องยืนยันและยอมรับว่าการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธและการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีภายใต้กรอบของกฎหมายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมหรือการแสดงความคิดเห็นนั้นก็ตาม ทั้งนี้เพราะการยืนยันร่วมกันในลักษณะดังกล่าวไม่เพียงแต่เป็นการส่งเสริมการใช้สิทธิและเสรีภาพของประชาชน แต่ยังเป็นการสร้าง "ฉันทามติพื้นฐาน" หรือ "คุณค่าพื้นฐาน" ร่วมกันของสังคมว่าจะดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายในทางความคิดและอุดมการณ์ได้อย่างสันติ ด้วยเหตุนี้องค์กรที่ใช้อำนาจรัฐทั้งหลายจึงมีหน้าที่ที่จะต้องให้หลักประกันแก่ประชาชนว่าจะสามารถใช้สิทธิขั้นพื้นฐานได้อย่างอิสระและปลอดภัย ตลอดจนจะต้องงดเว้นไม่ใช้มาตรการทางกฎหมายหรือกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการขัดขวางหรือตอบโต้การใช้สิทธิและเสรีภาพดังกล่าว

อีกทั้ง ในสังคมการเมืองพหุนิยมซึ่งมีความคิดและอุดมการณ์แตกต่างหลากหลาย ทุกภาคส่วนของสังคมควรยอมรับว่าไม่มีคุณค่าใดเป็นคุณค่าสูงสุดเด็ดขาด แต่ควรเปิดโอกาสให้คุณค่าทั้งหลายที่ขัดแย้งกันอยู่นั้นได้มี "พื้นที่ในสังคมการเมือง" และมีโอกาสในการพัฒนาตนเองหรือพัฒนาการอุดมการณ์แห่งคุณค่านั้นด้วย แม้ว่าการเคลื่อนไหวหรือการแสดงออกของผู้ชุมนุมเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพภายใต้กรอบของกฎหมาย แต่ก็ต้องระมัดระวังไม่ให้การใช้สิทธิเสรีภาพนั้นบั่นทอนคุณค่าที่คนกลุ่มอื่นของสังคมยึดถือจนพัฒนาไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรง การประสานคุณค่าและความต้องการที่แตกต่างหลากหลายจะเป็นหลักประกันของการดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในสังคมเสรีประชาธิปไตยและช่วยเปิดทางสู่การมีพื้นที่ร่วมเพื่อพัฒนาสังคมไปในทางที่ดีขึ้นดังที่ผู้ใช้สิทธิเสรีภาพพึงประสงค์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ