"วิรัช" นำ 206 รายชื่อส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลยื่นญัตติร่างแก้ไข รธน.แล้ว เปิดทางตั้งส.ส.ร.

ข่าวการเมือง Tuesday September 1, 2020 16:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล)นำรายชื่อ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลที่สนับสนุนจำนวน 206 รายชื่อ ยื่นญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อนำเข้าบรรจุญัตติการพิจารณาในที่ประชุมร่วมของรัฐสภาแล้ว โดยยอมรับว่า การใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ผ่านมาพบความบกพร่องในหลายจุด จึงเห็นว่าควรแก้ไข และการตั้ง กมธ.ขึ้นมาศึกษาปัญหา และหลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)

นายวิรัช กล่าวว่า พรรคร่วมรัฐบาลยื่นแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเพียงร่างเดียวในนามพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งสะท้อนว่าพรรคร่วมรัฐบาลยังมีความเหนียวแน่น และหากที่ประชุมรัฐสภารับหลักการก็จะมีการตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วม ทั้งคณะรัฐมนตรี ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ส.ส.ฝ่ายค้าน และ ส.ว. มาร่วมกันปรับแก้ในวาระที่ 2 ต่อไป ซึ่งเบื้องต้นมีการประสานงานกับทาง ส.ว.เป็นการภายในเป็นระยะๆ แล้ว แต่สัญญาณยังไม่ค่อยชัดเจนว่าจะได้รับการสนับสนุนมากน้อยเพียงใด จึงจะต้องรอการอภิปรายของ ส.ส.และ ส.ว.ในการพิจารณาวันที่ 23-24 ก.ย.นี้ก่อน ไม่อยากไปเร่งรัดขอความชัดเจนจาก ส.ว. เพราะตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หากมีประเด็นใดที่สามารถปรับแก้ได้ก็พร้อมดำเนินการ เพราะหากรัฐบาลไม่ฟังเสียง ส.ว.ก็จะไม่สามารถเดินหน้าแก้ไขได้ จึงต้องดำเนินการอย่างเป็นกลาง และส่วนตัวมองว่า การกำหนดรายละเอียดในร่างแก้ไขที่ยื่นแก้ไขไปนั้นยังมีรายละเอียดมากไปด้วยซ้ำ

ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล ยึดหลักตรงกันในการแก้ไขมาตรา 256 และให้มีการตั้ง ส.ส.ร. รวมถึงยังมีเสียงเรียกร้องจากภายนอกให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ จึงมีกระบวนการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญ จึงหวังว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลง ตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยอย่างสันติวิธี และพรรคร่วมรัฐบาลขอความร่วมมือทุกภาคส่วนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประสบผลสำเร็จ

ส่วนที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญกำหนดขั้นตอนเมื่อ ส.ส.ร.ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบบใหม่เสร็จแล้วต้องส่งกลับมาให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบนั้น นายชินวรณ์ ชี้แจงว่า เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเห็นร่วมกัน เพราะการจัดทำรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่มีความเห็นพ้องร่วมกัน ก็จะเกิดความขัดแย้ง จึงวางระบบไว้ 2 ระบบ ที่จะต้องผ่านการตรวจสอบจากรัฐสภาก่อน หากรัฐสภาไม่ให้ความเห็นชอบก็จะต้องนำไปประชามติขอความเห็นจากประชาชน รวมถึงยังเป็นหลักเกณฑ์ตามการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ