พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) กล่าวว่า การชุมนุมในวันนี้ได้รับรายงานใน 4 จุด ด้วยกัน ได้แก่ บริเวณแยกเกษตร-หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ-ใต้สะพานภูมิพล-MRT กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งขณะนี้ผู้ชุมนุมยังอยู่บริเวณฟุตบาท
สำหรับแนวทางการพิจารณาปิดเส้นทางจราจรหรือระบบขนส่งสาธารณะ จะเน้นความปลอดภัยและการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเป็นหลัก เพื่อให้เกิดความปลอดภัย โดยจะพิจารณาไปตามสถานการณ์
"การปิดการจราจรใกล้พื้นที่ชุมนุม 4 จุด จะพิจารณาไปตามสภาพ บางทีมีผู้ชุมนุมจำนวนมากก็ปิดไปโดยปริยาย แต่ยังไม่ปิดระบบรถไฟฟ้าทั้งบีทีเอสและเอ็มอาร์ที"ในส่วนระบบขนส่งสาธารณะ ไม่มีการปิดให้บริการทั้งรถไฟฟ้า รถใต้ดิน แอร์พอร์ต ลิงก์
พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผบช.น. เปิดเผยว่า การดูแลความสงบเรียบร้อยการชุมนุมนั้น ทางตำรวจจะประเมินตามสถานการณ์ โดย บช.น.เตรียมกำลังกองร้อยควบคุมฝูงชนหลัก 12 กองร้อย รวมทั้งหมด 1,860 นาย ภายใต้การบังคับบัญชาของ พล.ต.ต.สหรัฐ ศักดิ์ศิลปชัย และ พล.ต.ต.พีระพงศ์ วงษ์สมาน รอง ผบช.น. โดยเน้นการเป็นชุดเคลื่อนที่เร็วในการเข้ารักษาความสงบเรียบร้อยในบริเวณที่มีการชุมนุม และป้องกันมือที่สามก่อความไม่สงบเรียบร้อย
นอกจากนี้ ขอย้ำเตือนมายังพี่น้องประชาชนว่า การบังคับใช้กฎหมายในช่วงเวลานี้กับกลุ่มผู้ชุมนุมเป็นไปตามกฎหมายภายใต้การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขต กทม. ซึ่งใช้อำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มิใช่ช่วงสถานการณ์ปกติ จึงไม่อนุญาตให้มีการชุมนุมที่มีวัตถุประสงค์อันก่อให้เกิดความไม่สงบใด ๆ ทั้งสิ้น
ส่วนการนำเสนอข่าวสารไม่ว่าจะเป็นภาพนิ่งหรือภาพคลื่อนไหว อันจะเป็นการปลุกปั่นหรือทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่องทางโซเซียลมีเดีย ที่มีการชักชวน เชิญชวน เข้ามาชุมนุมอาจมีความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม การใช้โซเซียลมีเดียในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโพสต์ข้อมูลอันเป็นเท็จ ซึ่งการกระทำดังกล่าวนอกจากจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับนั้น อาจเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินอีกด้วย