ปธ.สภาฯ เดินหน้าโครงสร้าง กก.สมานฉันท์ 2 ชุด แย้มไม่รอ 7 ฝ่ายร่วมครบ

ข่าวการเมือง Wednesday November 11, 2020 13:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ว่า ขณะนี้โครงสร้างมีความชัดเจนว่าจะเป็นรูปแบบคณะกรรมการ 2 คณะ ได้แก่ คณะกรรมการชุดที่หนึ่ง ตามที่สถาบันพระปกเกล้า และ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เสนอ จะประกอบด้วย กรรมผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญในด้านการประนีประนอม

คณะกรรมการชุดแรกจะศึกษาแนวทางสร้างความปรองดองในอดีตมาดูว่ามีปัญหาอุปสรรคอย่างไรทำไมจึงไม่สำเร็จ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลควบคู่กับการดำเนินการของคณะกรรมการชุดที่สอง ที่ประกอบด้วย กรรมการ 7 ฝ่าย แต่คงไม่อาจรอให้ครบทั้ง 7 ฝ่ายมาร่วมกันได้ เพราะต้องเร่งดำเนินการไปก่อนแม้จะไม่ครบด้วย โดยได้มอบหมายให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการ เป็นผู้รับผิดชอบเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาหาทางออกร่วมกัน

นายชวน กล่าวตอบข้อซักถามถึงจะมีการเชิญ อดีตนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาร่วมหาทางออกด้วยหรือไม่ว่า ได้พูดคุยกับอดีตนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในประเทศไทยหมดแล้วเพื่อหาทางออกประเทศในระยะยาว ยกเว้น พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่สูงอายุมากแล้ว

ส่วนกรณีที่ฝ่ายค้านออกมาคัดค้านการบรรจุร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภานั้น นายชวน กล่าวว่า การที่รัฐบาลเสนอร่าง พ.ร.บ.การจัดทำประชามติ ให้รัฐสภาพิจารณา ฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลคงพิจารณามาอย่างรอบคอบแล้ว

อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่เป็นประธานรัฐสภายังต้องพิจารณาว่าเข้าเงื่อนไขที่จะเสนอให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาหรือไม่ หรือควรพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรตามที่ฝ่ายค้านทักท้วง เนื่องจากฝ่ายค้านเห็นว่าไม่ใช่กฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ เพราะการจะพิจารณาในที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้นั้นมีเงื่อนไขที่กำหนดไว้ชัดเจนอยู่แล้วตามรัฐธรรมนูญ และขณะนี้ยังมีการทักท้วงว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้จัดทำประชาพิจารณ์ ก็ได้ตรวจสอบรายงานแล้วพบว่ามีการดำเนินการครบถ้วนแล้ว

นายชวน กล่าวว่า บ่ายวันนี้จะมีการหารือกับฝ่ายค้านในที่ประชุมร่วม 3 ฝ่าย เพราะบางเรื่อง ส.ส. อาจเข้าชื่อยื่นได้เองโดยตรง แต่บางเรื่องก็ต้องยื่นในนามประธานสภาฯ

ส่วนความคืบหน้าการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนของ iLaw นายชวน กล่าวว่า จากการตรวจสอบการยืนยันรายชื่อประชาชนขณะนี้มีประชาชน ประมาณ 400 คน ที่ตอบกลับมาว่าไม่ได้เป็นผู้ลงชื่อทำให้ต้องถอนชื่อออก แต่ก็ไม่กระทบต่อการบรรจุญัตติเพราะมีรายชื่อประชาชนมากกว่าแสนรายชื่อและจะครบกำหนดการยืนยันรายชื่อในวันที่ 12 พ.ย.นี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ