สภาฯ โชว์ผลงานผ่านร่างกฎหมายเพียง 7 ฉบับ เล็งปรับการทำงานใหม่

ข่าวการเมือง Friday December 25, 2020 16:48 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงผลการทำงานของสภาผู้แทนราษฎรตลอดปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่ 2 สมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่ 1 มีการประชุมรวม 42 ครั้ง และมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา 8 ครั้ง มีร่างพ.ร.บ. ที่ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ 7 ฉบับ และอยู่ระหว่างการพิจารณา 6 ฉบับ รอการพิจารณาของสภาในวาระที่หนึ่ง 34 ฉบับ รอการบรรจุระเบียบวาระการประชุม 5 ฉบับ อยู่ระหว่างการพิจารณาให้คำรับรองของนายกฯ เนื่องจากเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวด้วยการเงิน 25 ฉบับ ร่างพ.ร.บ.ที่เกี่ยวด้วยการเงินที่นายกรัฐมนตรีไม่ให้คำรับรอง 12 ฉบับ อยู่ระหว่างการพิจารณาของประธานสภาฯ 5 ฉบับ ส่วนร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอโดยประชาชนอยู่ระหว่างรอการพิจารณาของสภาฯในวาระหนึ่งจำนวน 2 ฉบับ และมีพ.ร.ก.ที่สภาฯ พิจารณาอนุมัติ 4 ฉบับ มีญัตติการเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรีโดยไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ 1 ญัตติ

กฎหมายที่ประกาศใช้ได้ ถือว่าน้อยเกินไป โดยมาจากหลายสาเหตุ อาทิ ร่างกฎหมายคณะรัฐมนตรี (ครม.) เสนอมายังสภาฯ มีน้อยมาก และอาจเป็นเพราะกฎหมายสำคัญๆ จำนวนมากผ่านการพิจารณาไปแล้วสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวมถึงการจัดลำดับวาระการประชุม ที่กำหนดพิจารณากฎหมายไว้ท้ายวาระทำให้การพิจารณาล่าช้า โดยหลังจากนี้ทุกวันพุธ สภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาเฉพาะกฎหมายเท่านั้น

ส่วนกระทู้ถามสดด้วยวาจามีจำนวน 49 กระทู้ ส่วนกระทู้ถามทั่วไปที่ถามต่อรัฐมนตรีในที่ประชุมสภาฯ 41 กระทู้ และกระทู้ถามทั่วไปที่ตอบในราชกิจจานุเบกษา 58 กระทู้ ซึ่งสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ขอร้องไปยัง ครม.แล้วว่า เมื่อถึงวันถาม-ตอบกระทู้ถาม ขอให้รัฐมนตรีงดภารกิจอื่นๆ เพื่อสามารถมาตอบกระทู้ถามของ ส.ส.ได้ และเชื่อว่า เมื่อสภาจัดลำดับวันพิจารณาตอบกระทู้ถามใหม่เป็นทุกวันพฤหัสฯ แล้ว จะได้รับความร่วมมือจากรัฐมนตรีมากขึ้น

นอกจากนั้นในสมัยประชุมยังมีการประชุมร่วมรัฐสภา 8 ครั้ง มีร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศ และได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา 2 ฉบับ รวมถึงยังมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ที่รัฐสภารับหลักการไว้พิจารณาจำนวน 2 ฉบับ มีญัตติที่รอการพิจารณา 1 ญัตติ ที่รอการพิจารณาในปี 2564


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ