ตร.เตรียมดำเนินคดี 20 แนวร่วมม็อบ REDEM เชื่อมีแกนนำแต่ไม่เปิดเผยตัว

ข่าวการเมือง Sunday March 21, 2021 13:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ในฐานะโฆษก บช.น. กล่าวถึงเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่ม REDEM เมื่อวานนี้ (20 มี.ค.) โดยไล่เรียงเหตุการณ์ชุมนุมว่า ผู้ชุมนุมนัดรวมกลุ่มกัน 2 จุด คือ จุดแรกหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ สนามหลวง และจุดที่สองหน้าร้านแม็คโดนัลล์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยเมื่อถึงเวลานัดหมาย กลุ่มผู้ชุมนุมที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเตรียมเดินทางมาสมทบกับกลุ่มหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ ซึ่งตำรวจได้มีการแจ้งเตือนที่จุดชุมนุมบริเวณสนามหลวงแล้ว ว่าการชุมนุมนี้เป็นการกระทำผิดกฎหมาย แต่ผู้ชุมนุมได้ผลักดันและทำร้ายเจ้าหน้าที่จนต้องถอยร่นออกมา

ขณะเดียวกัน ผู้ชุมนุมได้รื้อสิ่งกีดขวางแนวที่หนึ่งออก และมีการเคลื่อนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ รวมทั้งมีอีกกลุ่มใช้ท่อนเหล็ก ท่อนไม้ หนังสติ๊ก ลูกแก้ว ลูกเหล็ก ระเบิดบางชนิด รวมทั้งวัตถุบางประเภทที่ติดไฟได้ง่ายโยนใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยผู้ชุมนุมพยายามจะบุกรุกเข้าไปในพื้นที่หวงห้ามที่ตำรวจได้แจ้งเตือนเป็นระยะๆ และมีการทุบทำลายสิ่งของราชการ เช่น กล้องวงจรปิด แผงเหล็ก

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องประกาศเตือนให้หยุดดำเนินการ แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ฟัง ยังพยายามบุกเข้าพื้นที่หวงห้าม และมีความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดเพลิงไหม้ในพื้นที่ราชการสำคัญรอบบริเวณนั้น จนเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องฉีดน้ำเตือน แต่ผู้ชุมนุมก็ยังพยายามบุกเข้าไป ตำรวจจึงใช้ชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) ผลักดันผู้ชุมนุมออกจากบริเวณสนามหลวง และสามารถรักษาพื้นที่ไว้ได้ ทำให้ผู้ชุมุนมถอยร่นกระจายไปอยู่ใน 2 พื้นที่ คือ บริเวณเชิงสะพานพระปิ่นเกล้า และบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แยกคอกวัว และโดยรอบ

จากนั้นผู้ชุมนุมยังมีการจุดเพลิงในบริเวณต่างๆ เช่น ถ.ราชดำเนิน กองสลากฯ (เก่า) สนามหลวง ด้านหลังโรงแรมรัตนโกสินทร์ เชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า รวมทั้งมีการทุบทำลายและเผารถตำรวจ ที่บริเวณสะพานวันชาติ ซึ่งเหตุการณ์ดำเนินไปจนถึงเวลา 00.30 น. ตำรวจจึงสามารถควบคุมสถานการณ์ได้

โฆษก บช.น. กล่าวว่า จากเหตุการณ์ชุมนุมในครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมผู้กระทำผิดในเบื้องต้นได้ 20 คน นำส่งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี ในข้อหาหลัก คือ ร่วมกันชุมนุมโดยผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.ก.การบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน มั่วสุมในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด ตามความผิดใน พ.ร.บ.โรคติดต่อ มีการสมคบกันตั้งแต่ 10 คน ก่อความไม่สงบในบ้านเมือง ตามมาตรา 215 วรรคหนึ่งและสอง และการทำร้ายพนักงานเจ้าหน้าที่ ต่อสู้ ขัดขวางพนักงานเจ้าหน้าที่ และทำร้ายพนักงานเจ้าหน้าที่ขณะปฏิบัติหน้าที่ โดยใช้อาวุธ ซึ่งเป็นความผิดมาตรา 138 และมาตรา 140 รวมถึงมีผู้ชุมนุมบางส่วนที่กระทำผิด มาตรา 112 ซึ่งเป็นการกระทำที่กระทบจิตใจของประชาชนอย่างจงใจ ซึ่งตำรวจจะดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป

อย่างไรก็ดี มีเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ รวม 9 นาย รักษาตัวอยู่ที่ รพ.ตำรวจ และ รพ.วชิระ ส่วนใหญ่เป็นการบาดเจ็บที่เกิดจากโดนของแข็งกระแทกศรีษะ ร่างกาย และจุดต่างๆ โดยมีรายที่น่าเป็นห่วง คือกะโหลกศรีษะแตก ขณะนี้นอนอยู่ห้องไอซียู รพ.ตำรวจ

"ความรุนแรงที่เกิดขึ้น มาจากผู้ชุมนุมเป็นหลัก เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นฝ่ายต้องตั้งรับและรักษากฎหมาย...กลุ่มผู้ชุมนุมอ้างว่าไม่มีแกนนำ แต่จากการสืบเชิงลึก มีแกนนำ แต่ไม่ปรากฎตัว ตอนนี้เราอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน ถ้าพบหลักฐานและความเชื่อมโยงชัดเจน จะดำเนินคดีตามกฎหมายแน่นอน" พล.ต.ต.ปิยะระบุ

พล.ต.ต ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันหลักการ 3 ด้านของเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อการดูแลการชุมนุมทางการเมือง โดยหลักการข้อแรก ยังคงยืนยันว่าการชุมนุมในขณะนี้ถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมาย คือ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ หลักการข้อสอง จำเป็นต้องใช้เครื่องกีดขวางในบางพื้นที่การชุมนุม เนื่องจากเกรงจะมีผลกระทบต่อสถานที่ราชการสำคัญ และไม่ต้องการเห็นผู้ชุมนุมกระทำผิดกฎหมายไปมากกว่านี้ จึงต้องระงับยับยั้งเหตุไว้ก่อนที่จะเกิดความเสียหายต่อผู้ชุมนุมเองรวมถึงสถานที่สำคัญ หลักการข้อสาม ระงับยับยั้งผู้ชุมนุมไม่ให้ไปทำลายสถานที่ราชการสำคัญ ซึ่งตำรวจมีมาตรการและขั้นตอนตามกฎหมายที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

"เรามีการบอกว่า พื้นที่นี้ถึงเวลาแล้วที่ต้องเคลียร์ทุกคนในพื้นที่ออกไป เพราะเป็นมาตรการควบคุมพื้นที่ให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด ดังนั้นสิ่งที่ทำลงไป เรายืนยันว่า ทำไปเพื่อรักษากฎหมาย" โฆษกตำรวจระบุ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ