ชวน มั่นใจวางมาตรการคุมเข้มเพียงพอ เดินหน้าประชุมสภาฯ ได้ตามกำหนดเวลา

ข่าวการเมือง Monday May 17, 2021 16:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีให้อำนาจประธานสภาฯ พิจารณาว่าจะให้ ส.ส.ถอดหน้ากากอนามัยในระหว่างประชุมสภาฯ หรือไม่ ว่า ส.ส.และเจ้าหน้าที่ทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยตั้งแต่เข้ามาในอาคารรัฐสภา และเข้าที่ประชุม แต่ตอนอภิปราย หากสมาชิกไม่สะดวกในการพูดและจะขอถอดหน้ากาก เป็นเรื่องที่จะต้องมีการหารือกันอีกครั้ง ซึ่งหากให้อำนาจประธานฯ ก็จะพิจารณาในขณะนั้นว่าจะอนุญาตหรือไม่

ทั้งนี้ คิดว่าไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วงมากนัก เพราะคนที่อภิปรายก็ไม่ใช่ผู้ติดเชื้อ แต่ก็ต้องป้องกันโดยเข้มงวด และในการประชุมสภาฯ สามารถนั่งเว้นระยะห่างได้ ซึ่งหากทุกคนปฏิบัติตามนี้ก็คงไม่มีปัญหา ที่ผ่านมา มีปัญหาคือเวลาอภิปรายแล้วเพื่อนมานั่งข้างๆ เพราะมีการถ่ายทอดทีวีออกไป แต่ครั้งนี้คงไม่มี เพราะต้องนั่งเว้นระยะห่าง

"เที่ยวที่แล้วเราก็เคยทำในแง่นี้ สำหรับเวลาอภิปรายสมาชิกสามารถถอดหน้ากากได้ แต่เที่ยวนี้ อาจจะเคร่งครัดมากกว่าเดิม เพราะอย่างที่เราทราบกันอยู่ว่ามีการติดเชื้อมาก เพราะฉะนั้นในสภาจะพยายามทำให้ไม่เป็นแหล่งกระจายเชื้อใหม่ ก็พยายามเข้มงวด แต่ปัญหาก็จะอยู่ที่ความร่วมมือของเจ้าหน้าที่ด้วย แต่ถ้าใครที่สามารถอภิปรายโดยไม่ต้องถอดหน้ากากได้ก็ดี แต่ใครที่บอกว่าจำเป็นต้องถอดหน้ากากอภิปราย เราก็จะพิจารณาความเหมาะสมอีกที" นายชวน กล่าว

ส่วนกรณีที่ยังมี ส.ส.บางคนไม่ฉีดวัคซีนนั้น นายชวน กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ที่เข้ามาในสภาฯทุกคนจะต้องฉีดวัคซีน หรือมีใบรับรองจากแพทย์ว่าเป็นผู้ไม่มีเชื้อในเวลาที่กำหนด ส่วน ส.ส.คงไปบังคับเช่นนั้นไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่น่าจะฉีดวัคซีนแล้ว และเมื่อมาถึงสภาฯ จะต้องมีการตรวจวัดอุณหภูมิโดยเข้มข้น หากอุณหภูมิในร่างกายไม่เกินกว่าที่กำหนด ก็ต้องสันนิษฐานว่าคงไม่มีเชื้ออะไร

"เชื่อว่าทุกคนที่เข้ามาในสภาฯ ก็ต้องรู้ตัวว่าเสี่ยงหรือไม่ หาก ส.ส.คนใดไม่แน่ใจก็คงต้องพิจารณาตัวเอง ไม่ใช่กลายมาเป็นคนปล่อยเชื้อ ขอย้ำว่าสภาฯ ไม่ใช่ที่ปล่อยเชื้อ และที่ผ่านมาก็ยังไม่มี ส.ส.ที่ติดเชื้อ ส่วนที่เป็นนข่าวมาก่อนหน้าที่คือติดมาจากที่อื่น" นายชวน กล่าว

ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวขอบคุณทุกฝ่ายที่เป็นห่วงและกังวล แต่จะให้ถึงขั้นเลื่อนการประชุมออกไป สภาฯ ก็ต้องรับผิดชอบในงานของตัวเอง ไม่เช่นนั้นจะถูกตำหนิได้ เพราะฝ่ายอื่นก็ยังต้องทำงานแม้จะมีสถานการณ์ของโควิด-19 และเมื่อดูโดยรอบคอบแล้วเห็นว่าโอกาสเสี่ยงไม่มาก หากทุกคนระมัดระวัง และรักษาระเบียบ รวมถึงคำแนะนำในการป้องกันอย่างเข้มขนก็จะทำให้งานของสภาฯเดินหน้าไปได้ ไม่เช่นนั้นงานก็ค้าง งบประมาณก็ผ่านไม่ได้แล้วจะมีปัญหาตามมา โดยเฉพาะร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ซึ่งรัฐบาลส่งมาถึงสภาฯ แล้วในวันนี้ ที่ต้องเริ่มนับหนึ่งในกรอบระยะเวลา 105 วัน หลังจากนี้จะได้แจกจ่ายร่างฯ ให้กับสมาชิกนำกลับไปศึกษา

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีการประชุม 4 ฝ่าย ตนได้แจ้งกับรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตัวแทนรัฐบาลไปว่า หากรัฐบาลเห็นว่าการประชุมสภาฯ จะเสี่ยงและเป็นอันตรายจะขอให้งดการประชุมก็ขอให้แจ้งมาได้เลย ทางสภาฯ ยินดีให้ความร่วมมือ แต่หากไม่ถึงขั้นนั้นก็ต้องเดินหน้าประชุม ไม่เช่นนั้นจะมีปัญหาตามมา อย่างไรก็ตาม เท่าที่สอบถามแล้วไม่มีปัญหานี้ เพราะได้สอบถามรองนายกรัฐมนตรี และสำนักงบประมาณ แล้วก็ยืนยันตามนี้ ซึ่งความจริงสำนักงบประมาณต้องการให้ประชุมวันที่ 27 พ.ค.ด้วยซ้ำ แต่มีพระราชกำหนดที่จะต้องพิจารณาก่อน

"สภาฯ จะต้องมีมาตรกรเข้มในการตรวจตราการเข้า-ออกในสภาฯ โดยเฉพาะตอนประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณางบฯ ปี 65 ชุดใหญ่ ซึ่งตอนนี้เตรียมห้องอย่างดีที่สุด แต่จะต้องขอร้องว่า ตอนเชิญกระทรวงมาชี้แจง ให้จัดลำดับให้ชัดเจน และกระทรวงไหนที่ไม่เกี่ยวข้อง ไม่ต้องให้มารอข้ามคืน เมื่อจบกระทรวงไหนก็ให้กลับไป ไม่ใช่ให้มารอกันเต็ม จะต้องจำกัดในแง่นี้ ถ้าปล่อยไว้จะเป็นอันตราย เพราะไม่รู้ว่าใครเป็นใคร และผมว่าโควิด-19 ทำให้เราได้ทบทวนวิธีการทำงาน ซึ่งเป็นแนวทางที่มีประสิทธิภาพเป็นประโยชน์ ไม่สิ้นเปลืองเวลา และงบประมาณโดยใช้วิธีปรับให้เหมาะสม ไม่ใช่ให้มารอตั้ง 3 วันกว่าจะได้ชี้แจง" นายชวน กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ