(เพิ่มเติม) กลุ่ม Re-solution นำรายชื่อกว่า 1.5 แสนยื่นร่างแก้ รธน.ฉบับประชาชนต่อประธานสภาฯ

ข่าวการเมือง Wednesday June 30, 2021 16:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม แกนนำกลุ่ม Re-Solution และรัฐธรรมนูญก้าวหน้า พร้อมผู้สนับสนุนเดินทางมายื่นรายชื่อประชาชน 150,921 ชื่อพร้อมร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับมอบหนังสือเอกสารรายชื่อ

นายพริษฐ์ ระบุข้อเรียกร้อง 4 ข้อภายใต้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของประชาชน คือ

1.ล้ม ส.ว. 250 คน และเดินหน้าสภาเดี่ยว

2.โละศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ ปฏิรูปที่มา อำนาจ การตรวจสอบ

3.เลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนปฏิรูปเพื่ออนาคตของประเทศ

4.ล้างมรดกรัฐประหารที่ขัดขวางประชาธิปไตย

นายพริษฐ์ กล่าวว่า คงไม่มีห้วงเวลาไหนที่ชัดเจนไปกว่านี้ที่จะเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะไม่ว่ารัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะบริหารจัดการวิกฤตโควิดอย่างขาดประสิทธิภาพแค่ไหน แต่ตราบใดที่ยังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจของระบอบประยุทธ์ ถึงแม้ประชาชนจะไม่พอใจการบริหารประเทศเท่าไหร่ แต่อำนาจในการเปลี่ยนรัฐบาลถูกพรากไปจากมือประชาชน การแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อให้เราสร้างระบอบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยและระบอบการเมืองที่ช่วยชีวิตประชาชน

ขณะที่ สมาชิกรัฐสภา นำโดย ส.ว.ปัดตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญถึง 12 ร่างจากทั้งหมด 13 ร่าง รวมถึงข้อเสนอที่สกัดกั้นการสืบทอดอำนาจ เหมือนเป็นการปิดประตูใส่หน้าประชาชน แต่ประชาชนอีกจำนวนมากไม่ยอมแพ้และร่วมลงชื่อมากกว่า 150,000 ชื่อ เพื่อยื่นข้อเสนอในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรายมาตราเข้าสู่สภา

"ผมขอขอบคุณประชาชนทุกคนที่ร่วมลงชื่อ รวมถึงอาสาสมัครทีมงานที่ทุ่มแรงกายใจตลอดหลายเดือน ให้ร่างของเราเข้าสู่สภาได้ และผมขอตอบแทนโดยการเรียกร้องและส่งต่อความคาดหวังของประชาชนไปยังรัฐสภา เพื่อขอให้รัฐสภาเร่งตรวจสอบเอกสารและบรรจุร่างฉบับนี้เข้าไปในวาระโดยเร็วที่สุด เพราะยิ่งรัฐสภาปล่อยให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความล่าช้าเท่าไหร่ ก็เท่ากับการปล่อยให้ประชาชนต้องรับผลกระทบทางสุขภาพและทางเศรษฐกิจที่ทวีคูณความเสียหายในทุกๆ วัน จากการบริหารของรัฐบาลที่ขาดทั้งความสามารถ ขาดความรับผิดชอบทางการเมือง และขาดกลไกตรวจสอบถ่วงดุลที่ประชาชนไว้ใจได้" นายพริษฐ์ กล่าว

นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นครั้งที่สองที่ iLaw ได้ยื่นรายชื่อประชาชนเพื่อนำเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภา โดยครั้งที่แล้วรัฐสภาไม่เห็นด้วยกับการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ แต่ร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการแก้ไขรายมาตราเพื่อรื้อถอนอำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดังนั้นจึงคาดว่าครั้งนี้ทางสภาฯ จะรับพิจารณาร่างที่ประชาชนเสนอ

นายปิยบุตร แสงกนกกุล หนึ่งในแกนนำกลุ่ม Re-Solution กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทีรัฐสภาได้พิจารณาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีร่างที่ผ่านการรับหลักการไปเพียงประเด็นเดียวคือระบบเลือกตั้ง จึงหวังว่าการเสนอร่างรัฐธรมนูญฉบับประชาชนครั้งนี้อย่างน้อยต้องได้รับการพิจารณาในรัฐสภา และไม่ถูกปัดตกเหมือนร่างรัฐธรรมนูญฉบับอื่นๆ อีก 12 ร่างฯที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม หากเกิดการคว่ำร่างฯ ฉบับนี้อีก วุฒิสภาจะต้องให้เหตุผลต่อประชาชน ในขณะเดียวกันทางประชาชนจะทำการรณรงค์รวบรวมรายชื่อเพื่อกดดันสภาฯ ต่อไป เนื่องจากเล็งเห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญที่สภาฯ ดำเนินการอยู่ไม่ใช่การแก้รัฐธรรรมนูญที่ตรงจุด และรัฐธรรมนูญนั้นควรเป็นรัฐธรรมนูญเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

"เราทราบดีว่าอุปสรรคที่สำคัญคือจะเอาเสียงวุฒิสภาจำนวน 1 ใน 3 มาจากไหน แต่หาก ส.ว.ใช้อำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาธิปไตย ขัดขวางเสียงของประชาชนบ่อยครั้งขึ้นเท่าไหร่ นั่นแสดงให้เห็นว่าเวลาสุดท้ายของ ส.ว. จะใกล้มาถึงเรื่อยๆ ถ้าประชาชนเข้าชื่อกันมา แต่ถึงเวลาวุฒิสภานั่งขวาง ไม่ยอมให้แก้ไขในประเด็นสำคัญ พวกเขาต้องตอบคำถามให้ได้ว่าเหตุผลอะไรที่ต้องขัดขวางเจตจำนงค์ของประชาชน เราไม่สามารถปล่อยให้บ้านเมืองอยู่ในกำมือของวุฒิสภา และขอยืนยันว่าหาก ส.ว. คว่ำร่างอีก เราจะรณรงค์กดดันต่อแน่นอน" นายปิยบุตร กล่าว

ขณะที่เลขาฯ ประธานสภาฯ กล่าวว่า หากรายชื่อที่ผ่านการตรวจสอบมีจำนวนเกิน 50,000 รายชื่อตามระเบียบก็จะนำส่งร่างรัฐธรรมนูญเพื่อทำการเผยแพร่ให้ประชาชนแสดงความเห็น และสอบถามผลกระทบต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 หลังจากนั้นจะนำเสนอต่อประธานรัฐสภาเพื่อบรรจุเข้าระเบียบวาระของการพิจารณาของรัฐสภาต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ