สภาฯ โหวตผ่านงบกระทรวงเกษตรฯ 232 ต่อ 111 ปรับลดงบ 205 ลบ.

ข่าวการเมือง Thursday August 19, 2021 18:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ในวาระ 2 มาตรา 14 งบประมาณกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตามที่กรรมาธิการเสียงข้างมาก 232 ต่อ 111 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ในฐานะประธานกรรมธิการวิสามัญงบประมาณฯ ชี้แจงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ในวาระ 2 มาตรา 14 งบประมาณกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า ได้มีการพิจารณาทั้งเรื่องปัจจัยการผลิตต่างๆ ทั้งพันธุ์พืช น้ำชลประทาน และเรื่องผลผลิตทั้งคุณภาพและมาตรฐาน เรื่องการตลาดและโลจิสติกส์ รวมถึงการวิจัยและนวัตกรรม ประสิทธิภาพในการทำงาน

ทั้งนี้ ทางกมธ.ได้พิจารณารายละเอียดงบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มีทั้งหมด 11 แผนงาน งบประมาณทั้งสิ้น 34,089,424,600 บาท ได้มีการปรับลดไป 205,500,000 บาท ทางกมธ.ยืนยันปรับลดตัวเลขตามนี้

นายพิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณฯ อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ในวาระ 2 มาตรา 14 งบประมาณกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีขอปรับลดงบกระทรวงลง 5% ซึ่งงบกว่า 70% ไปอยู่ที่กรมชลประทาน แต่งานของกรมชลประทานกลับให้บริการประชาชนไม่ถึง 20% หรือประมาณ 3.4 หมื่นล้านไร่ แยกเป็นของกรมชลประทาน 2.5 หมื่นล้านไร่ และที่ถ่ายโอนให้ท้องถิ่นประมาณ 8,900 ล้านไร่ และยังมีเกษตรกรที่อยู่นอกเขตชลประทานอีกไม่ต่ำกว่า 100 กว่าล้านไร่

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มีทุ่มเงินไปกับการก่อสร้างแหล่งน้ำขนาดใหญ่ แต่ละเลยการกับเก็บน้ำบาดาล และได้รับน้ำจากกรมชลประทานปีหนึ่งประมาณ 2 หมื่นล้านลบ.ม. และบางปีประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ และต้องขอความร่วมมือจากเกษตกรงดเพาะปลูกในช่วงหน้าแล้ง

แต่ในส่วนน้ำบาดาล กรมทรัพยากรน้ำบาดาลแจ้งต่อกมธ.ว่า มีน้ำเก็บสะสมไว้ 1.1 ล้านล้านลบ.ม. จึงขอเสนอให้ตัดงบในส่วนของการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ หันไปใช้แหล่งน้ำบาดาล ส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลขุดเจาะน้ำบาดาล ซึ่งมีกรมทรัพยากรน้ำบาดาลดำเนินการเรื่องนี้ได้ เพื่อประโยชน์ต่อเกษตรกรโดยตรง

นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ในวาระ 2 มาตรา 14 งบประมาณกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ขอสงวนคำแปรญัตติและปรับลดงบประมาณลง 5% ในเรื่องการวิจัยเมล็ดพันธุ์ ซึ่งมีงบวิจัยไม่เพียงพอ โดยโครงการของกรมการข้าว ผลิตได้ 87,000 ตัน 102 ล้านบาท และโครงการของศูนย์ข้าวชุมชน ผลิตได้ 11,200 ตัน 104 ล้านบาท ผู้ประกอบการผลิตได้ 3 แสนตัน

ทั้งนี้ กรมการข้าวได้รายงานต่อที่ประชุมกมธ.ว่า ทางหน่วยงานได้มีการผลักดันต่อยอดพันธุ์ข้าวและของบประมาณที่เกี่ยวกับลานตากข้าวทุกปี แต่ถูกตัดงบประมาณในส่วนงานวิจัยทุกปี

และเมื่อดูในยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ ระยะ 20 ปี มีโครงการพัฒนาเป็นศูนย์กลางการผลิตเมล็ดพันธุ์พืช รองรับประชาคมอาเซียน งบปีละ 1,500 ล้านบาททุกปี แต่มีการจัดสรรงบเพียง 200 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ และรายได้ที่เป็นเป้าหมายที่กำหนดไว้ 60,000 ต่อครัวเรือน เพราะหากไม่มีการวิจัยเมล็ดพันธุ์ และไม่มีเมล็ดพันธุ์ที่ดีจะถึงเป้าหมายได้อย่างไร

ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ในวาระ 2 มาตรา 14 งบประมาณกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ขอสงวนคำแปรญัตติและปรับลดงบประมาณลง 5% หรือ 1,700 ล้านบาทเศษ จึงได้ขอปรับลดงบประมาณในส่วนเครื่องอำนวยความสะดวกของหน่วยงานราชการทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมอาคาร รถประจำตำแหน่ง เป็นต้น เพราะไม่มีความเหมาะสมที่จะได้รับความสะดวกสบาย เพราะการดูแลเกษตรกรยังบกพร่องอยู่

และภารกิจดูแลเกษตรกรในช่วงหลายปีถือว่าล้มเหลว โดยเฉพาะราคาผลผลิตลำไย ในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ตกต่ำมากที่สุด และทางกระทรวงเกษตรฯไม่เคยวางแผนช่วยเหลือเกษตรกร

นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง พรรคภูมิใจไทย อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ในวาระ 2 มาตรา 14 งบประมาณกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่ชลประทาน ซึ่งเมื่อรับฟังความเห็นจากประชาชนในเขตพื้นที่ชลประทานถือว่า ไม่เหมาะสม และการบริหารจัดการน้ำในเขตพื้นที่ลุ่มภาคกลาง ซึ่งเป็นช่วงฤดูทำการเกษตร และกรมชลประทานมีหน้าที่บริหารจัดการน้ำให้เพียงพอและสามารถทำการเกษตรได้เต็มที่ แต่กลับพบว่ากรมชลประทานระบายน้ำที่ใต้เขื่อนเจ้าพระยาที่ 60-70 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อมาไล่น้ำเค็ม แต่ปริมาณฝนในกทม. นนทบุรี ปทุมธานี ตกเยอะมาก จึงไม่จำเป็นต้องปล่อยน้ำถึง 60-70 ลบ.ม.ต่อวินาที

แต่น้ำที่นำเข้าระบบเพื่อให้ประชาชนใช้สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ทั้งฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก ปล่อยน้ำไม่ถึง 50 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งถือว่าเป็นการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานผิดพลาด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ