สภาฯ โหวตผ่านงบ ก.พลังงาน ด้วยคะแนนเสียง 230 ต่อ 109 ปรับลด 10 ลบ.

ข่าวการเมือง Friday August 20, 2021 12:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงมติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ในวาระ 2 มาตรา 18 งบประมาณกระทรวงพลังงาน ตามที่กรรมาธิการเสียงข้างมากเสนอ ด้วยคะแนน 230 ต่อ 109, งดออกเสียง 1

นายวิเชียร เชาวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณฯ ชี้แจงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ในวาระ 2 มาตรา 18 กระทรวงพลังงาน โดยได้รับการจัดสรร 1,883 ล้านบาทเศษ กมธ.ได้พิจารณาปรับลดไปเพียง 10 ล้านบาท คงเหลือ 1,873 ล้านบาทเศษ ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงได้รับการจัดสรร 233 ล้านบาท กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ 269 ล้านบาท กรมธุรกิจพลังงาน 105 ล้านบาท และสำนักนโยบายและแผนได้ 39 ล้านบาท และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานได้ 1,224 ล้านบาท

ส่วนกรณีราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น ได้มีการสอบถามจากกระทรวงพลังงาน ได้รับคำชี้แจงว่า ทางกระทรวงจะมีการทบทวนหลักเกณฑ์ให้มีความเหมาะสม เป็นธรรม และสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงในปัจจุบัน ส่วนกรณีการกำหนดราคาน้ำมันให้เท่ากันทั่วประเทศนั้น ทางกมธ.ได้ระบุเป็นข้อสังเกต เพื่อให้กระทรวงพลังงานไปดำเนินการ

ทั้งนี้ มี ส.ส.ได้สงวนคำแปรญัตติและขอปรับลดงบประมาณ โดยพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญงบประมาณฯ อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ในวาระ 2 มาตรา 18 กระทรวงพลังงาน โดยได้ขอสงวนคำแปรญัตติ ขอปรับลดงบประมาณ 1% เนื่องจากกระทรวงพลังงานยังปล่อยให้มีการซื้อไฟฟ้าจากเอกชน มากถึง 70% และทราบว่า มีความต้องการพลังงานไฟฟ้าเกินกว่าที่ประชาชนต้องการถึง 32% และสัญญาที่ทำไว้เอกชนเป็นสัญญาที่เสียเปรียบ จึงทำให้มีการผลักภาระค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน จึงทำให้ไทยมีการใช้ไฟในราคาที่สูง เฉลี่ย 4 บาทกว่า แต่ในประเทศเพื่อนบ้านราคาไฟไม่ถึง 2 บาท และในสถานการณ์วิกฤตโควิด รัฐควรช่วยค่าใช้จ่ายให้กับประชาชน

ส่วนเรื่องต้นทุนพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลสามารถลดได้ถึง 5-6 บาท เพราะรัฐมีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิต ซึ่งสิ่งที่รัฐทำได้นั้น เห็นว่ากระทรวงพลังงานจะมีส่วนช่วยประชาชนได้ จึงขอตัดลบงบฯ 1% และอยากสื่อสารไปยังรัฐบาลว่าวันนี้ต้องลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมันให้กับประชาชน

ด้านนายพิสิฐ ลี้อาธรรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ในวาระ 2 มาตรา 18 กระทรวงพลังงาน ว่า กมธ.ได้เชิญปลัดกระทรวงพลังงานมาชี้แจง ซึ่งรับทราบว่ากระทรวงพลังงานส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานทดแทน โดยหันไปใช้ก๊าซ LPG มากขึ้น รวมถึงส่งเสริมเรื่องพลังงานน้ำ แต่ไม่ค่อยมีการส่งเสริมการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์หรือพลังงานลม ซึ่งทั่วโลกพยายามที่จะปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพราะสร้างมลภาวะมากขึ้น จึงขอตัดงบ 5% เพื่อกระตุ้นให้กระทรวงพลังงานหันมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น

ปัจจุบันพลังงานแสงอาทิตย์ต้นทุนต่ำมาก ซึ่งไทยอยู่ในจุดภูมิศาสตร์ของโลกที่ได้เปรียบ แต่กลับไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งกระทรวงพลังงานควรหันมาเป็นต้นแบบในการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ แต่กลับไปมุ่งใช้พลังงานที่ต้องนำเข้า เช่น ก๊าซ LPG โดยเฉพาะกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งเป็นกรมที่ใช้งบประมาณมากที่สุด แต่ยังมีการขอซื้อรถบรรทุกที่ใช้น้ำมันดีเซล ทั้ง ๆ ที่จริงมีรถไฟฟ้าสามารถซื้อได้ จึงอยากให้มีการตัดงบการซื้อรถของกระทรวงพลังงาน ให้กระทรวงซื้อแต่รถไฟฟ้าเท่านั้น เพื่อทำให้เห็นว่า กระทรวงมีความจริงจังในการดูแลพลังงานอย่างแท้จริง และสามารถได้พลังงานที่ต้นทุนถูก

พร้อมทั้งอยากให้มีการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีอยู่หลายแห่งในประเทศ เป็นการช่วยลดมลภาวะและฝุ่นละอองได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง

นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ในวาระ 2 มาตรา 18 กระทรวงพลังงาน ย้ำว่า ราคาหน้าโรงกลั่นของไทยสูงกว่าในภูมิภาคนี้ ซึ่งในปี 64 สูงกว่า 61% ส่วนเรื่องก๊าซธรรมชาติ ซึ่งสำนักนโยบายและแผนพลังงาน ระบุในรายงานการประชุมว่า จะมีการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมี บมจ. ปตท.ดำเนินการ จึงอยากตั้งคำถามใน กมธ.ว่าจะมีคณะกรรมการกำกับดูแลพลังงานไปเพื่ออะไร ปตท.เป็นเพียงตัวละครตัวหนึ่ง ซึ่งถือว่าผิดตั้งแต่ต้น ถ้าเป็นเช่นนี้ควรไปปรับลดงบฯ ในส่วนของคณะกรรมการที่กำกับดูแลพลังงาน

ส่วนกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน ที่ระบุว่าปรับราคาหน้าโรงกลั่นลง 50 สตางค์ต่อลิตร แต่ราคาค้าปลีกไม่มีการปรับ กำไรยังอยู่ในระบบทั้งหมด ทางกระทรวงชี้แจงต่อ กมธ.ว่า ราคาในประเทศที่แพง เพราะภาษีแต่ละประเทศต่างกัน ซึ่งนายเกียรติ พยายามชี้ว่า ราคาหน้าโรงกลั่นไม่เกี่ยวกับภาษีในประเทศ ถือเป็นคำตอบที่หลงทาง นอกจากนี้ ราคาขายปลีกที่ไม่มีการปรับลดลงนั้น ต้นทุนพลังงานมีผลต่อสินค้าทุกประเภท และกระทบกับชีวิตประชาชน

ด้านนายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ในวาระ 2 มาตรา 18 กระทรวงพลังงาน โดยขอปรับลดงบประมาณ 7% ซึ่งกระทรวงมีตั้งงบประมาณผูกพันระจำปีเกือบทุกโครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการเล็ก โครงการใหญ่ โดยใช้วิธีการบริษัทมหาชนข้างนอกมาทำงบประมาณ เช่น การเช่ารถประจำตำแหน่งเลขารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 1.5 ล้านบาท แต่ทำเป็นงบต่อเนื่องจากปี 61-65 หรือ การจัดซื้อรถตู้ รถกระบะ รถบรรทุก กระทรวงใช้วิธีเดียวกันหมดคือ การใช้งบผูกพัน ซึ่งกมธ.ไม่สามารถปรับลดงบฯ ได้

"ด้านพลังงานทดแทน มีการตั้งรายจ่ายเป็นค่าจ้างศึกษาความเหมาะสมและสำรวจ เป็นงบผูกพันเช่นกัน และราคาน้ำมันในประเทศกลับเพิ่มสูงขึ้นในวิกฤตโควิด จึงอยากทราบว่ากระทรวงพลังงานคิดอะไรอยู่ และการขอปรับลด 7% ถือเป็นงบทิพย์ เพราะไม่สามารถตัดงบได้จริง เป็นเพียงการตั้งข้อสังเกตุในการจัดทำงบปี 65 เท่านั้น" นายณัฎฐ์ชนนระบุ

น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 ในวาระ 2 มาตรา 18 กระทรวงพลังงาน โดยขอปรับลดงบประมาณ 10% โดยกล่าวถึงกรณี ปตท.ได้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ในแหล่งเอราวัณ และแหล่งบงกชไปถือครอง ทำให้บริษัทเชฟรอน ต้องส่งแผนรื้อถอนปิโตรเลียมและส่งมอบทรัพย์สินทั้งหมดคืนให้กับรัฐ แต่เชฟรอนชี้แจงว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และส่งหนังสือไปยังกระทรวงพลังงาน โดยได้ยื่นฟ้องอนุญาโตตุลาการ เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนแท่นผลิตปิโตรเลียมที่ถูกกรมเชื้อเพลิงพลังงานให้ทางเชฟรอนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ซึ่งการฟ้องร้อง เกิดภายหลังขั้นตอนการประมูลไปแล้ว และกรมเชื้อเพลิงพลังงาน ได้ทำหนังสือถึงเชฟรอนให้จัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับแผนในการรื้อถอน รวมถึงการประมาณการค่าใช้จ่ายในการรื้อแท่นผลิตปิโตรเลียม ซึ่งมีทั้งหมด 300 แท่น และประเมินหลักประกันในการรื้อถอนรวมๆ 105,000 ล้านบาท

โดยหลักประกันในการรื้อถอนที่ใช้ในการรื้อถอนในปี 59 ผู้รับสัมปทานระบุว่ามีการออกกฎกระทรวงย้อนหลัง ผู้รับสัมปทานจึงต่อสู้ในประเด็นนี้ว่า หลักการทางกฏหมายไม่มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง จึงขอตั้งคำถามว่ากับ รมว.พลังงานได้ดำเนินนโยบายไปตามหลักนิติรัฐหรือไม่ และรัฐเองก็ไม่เคยขอแก้สัญญาสัมปทานเดิม ซึ่งอาจเป็นสัญญาที่ไม่รอบคอบและรัดกุมที่ทำมาตั้งแต่ปี 2515 และเรื่องนี้อาจจะส่งผลให้ไม่สามารถบังคับใช้กับคู่สัญญาได้ ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงจะกลายเป็นความบกพร่องของรัฐบาลเองหรือไม่

จึงอยากให้กมธ.ตอบคำถามว่า จากเหตุการณ์นี้จะส่งผลให้คนไทยต้องมารับผิดชอบใช้เงินไปกับค่าใช้จ่ายในงบประมาณที่ต้องมาเสียกับคดีค่าโง่แบบที่เคยผ่านมาหรือไม่ และจะดำเนินการอย่างไรต่อไป และหากไม่สามารถชี้แจงได้ จึงจำเป็นต้องตัดงบประมาณที่ใช้ในกระบวนการอนุญาโตตุลาการที่กรมเชื้อเพลิงพลังงานขอจัดสรรเข้ามา 185 ล้านบาทออกไปก่อน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ