ไทย-สหราชอาณาจักร หนุนความร่วมมือฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด

ข่าวการเมือง Wednesday October 6, 2021 17:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ไทย-สหราชอาณาจักร หนุนความร่วมมือฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังนายมาร์ก กุดดิง (H.E. Mr. Mark Gooding) เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย เข้าพบพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในโอกาสเข้ารับหน้าที่ว่าไทยและสหราชอาณาจักรจะใช้ประโยชน์จากกลไกความร่วมมือที่มีอยู่ให้เห็นผลสูงสุด ซึ่งไทยประสงค์ที่จะเพิ่มพูนการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะด้านสุขภาพ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในช่วงหลังวิกฤตโควิด-19 และหวังว่าทั้งสองฝ่ายจะเร่งแสวงหาความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ด้านเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรฯ กล่าวขอบคุณและยินดีที่ได้มาดำรงตำแหน่งในประเทศไทย โดยไทยและสหราชอาณาจักรมีความสัมพันธ์ที่ดีกันในทุกระดับมาอย่างแน่นแฟ้นและยาวนานกว่า 400 ปี โอกาสนี้ เอกอัครราชทูตฯ กล่าวยืนยันที่จะกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น สานต่อความร่วมมือที่อยู่บนผลประโยชน์ร่วมกันให้เกิดผลเป็นรูปธรรมในทุกมิติ ทั้งด้านการเมือง การส่งเสริมมูลค่าการค้าและการลงทุน และความร่วมมือระดับภูมิภาค

ทั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือในประเด็นต่างๆ ที่สำคัญ อาทิ

  • ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะแสวงหาความร่วมมือที่เป็นประโยชน์กับทั้งสองประเทศ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน ดิจิทัล นวัตกรรม สิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยไทยและสหราชอาณาจักรยังเห็นร่วมกันว่า ทั้งสองประเทศเผชิญความท้าทายที่คล้ายคลึงกัน เช่น สังคมผู้สูงอายุ และ digital disruption จึงทำให้ความร่วมมือทางด้านการศึกษาถือเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่ทั้งสองฝ่ายควรเร่งเพิ่มพูนให้เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
  • ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทั้งไทยและสหราชอาณาจักรให้ความสำคัญ โดยในระหว่างวันที่ 1-12 พฤศจิกายน 2564 สหราชอาณาจักรจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐภาคี กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) ครั้งที่ 26 ณ เมือง Glasgow ซึ่งนายกรัฐมนตรีใช้โอกาสนี้ ขอบคุณสหราชอาณาจักรที่สนับสนุนความร่วมมือทวิภาคีในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และไทยเดินหน้าการก้าวไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำและความยืดหยุ่นของสภาพอากาศ โดยมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงระหว่าง 20-25% ภายในปี ค.ศ. 2030 และไทยอยู่ระหว่างการจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศไทย โดยในภาคพลังงาน ไทยมีนโยบายลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2065 - 2070
  • ความร่วมมือด้านสาธารณสุข นายกรัฐมนตรียินดีที่บริษัทแอสตร้าเซนเนก้าเลือกไทยเป็นศูนย์กลางผลิตวัคซีนและจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าในไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเอกอัครราชทูตฯ กล่าวยินดีกับความสำเร็จการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ