สมาคมนักข่าวโวยพรรคการเมืองอย่าปิดกั้น ประชาชนมีสิทธิรู้ความเคลื่อนไหว

ข่าวการเมือง Sunday November 11, 2007 17:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์เรื่องการทำข่าวพรรคการเมืองด้วยเหตุผลว่า พรรคการเมืองไม่ใช่สมบัติหรือบริษัทส่วนตัวของใคร ที่จะมาอ้างว่าความเคลื่อนไหวต่างๆ เป็นเรื่องส่วนตัวไม่ใช่เรื่องที่ประชาชนจะต้องรับรู้ ทั้งๆ ที่การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
คำแถลงการณ์ยังระบุอีกว่า ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 พรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งต่างมีการเคลื่อนไหวและการแข่งขันในทางการเมืองเพื่อช่วงชิงเก้าอี้ ส.ส.ให้ได้มากที่สุด ในฐานะสื่อมวลชน นอกจากมีหน้าที่ในการนำเสนอข่าวนโยบายพรรคการเมืองต่างๆ แล้วยังนำเสนอข่าวความเคลื่อนไหวและการแข่งขันทางการเมืองดังกล่าวข้างต้น เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารสำหรับการตัดสินใจในการใช้สิทธิในวันเลือกตั้ง
นอกจากนั้นยังมีเหตุผลอีก 3 ประการ ที่ประชาชนมีสิทธิที่จะรับรู้ข้อมูลข่าวสารของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งนี้ ดังนี้ 1.พรรคการเมืองเป็นองค์กรสาธารณะ ที่เป็นตัวแทนในการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชนที่รวมตัวกันจัดตั้งพรรคการเมืองดังกล่าวขึ้น เจตนารมณ์ดังกล่าวสามารถแสดงออกมาอย่างเป็นรูปธรรมผ่านนโยบายของพรรค ซึ่งการจะนำนโยบายดังกล่าวไปปฏิบัติ เมื่อได้เป็นรัฐบาลซึ่งต้องผ่านฉันทานุมัติจากประชาชนผ่านการเลือกตั้ง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 65 บัญญัตินี้ไว่ว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมตัวจัดตั้งพรรคการเมือง เพื่อสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชน และเพื่อดำเนินกิจกรรมในทางการเมือง ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์นั้นตามวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข..."
เมื่อพรรคการเมืองมีหน้าที่ในการนำเจตนารมณ์และนโยบายของพรรคมาเป็นนโยบายในการบริหารประเทศ ประชาชนจึงมีสิทธิในการตรวจสอบความเป็นไปได้ในนโยบายของพรรคการเมือง รวมถึงมีสิทธิรับรู้ความเป็นไป ความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองว่าเป็นไปโดยชอบธรรมและชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
2.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 มีบทบัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้งในการตรวจสอบการกระทำของพรรคการเมืองทั้งในด้านการเงิน การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ ว่าชอบด้วยกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญหรือไม่
ดังนั้น เมื่อมีข่าวว่ามีบุคคลที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองมิให้ยุ่งเกี่ยวกับการจัดตั้งและบริหารพรรคการเมืองทำตัวเป็น "อีแอบ" เข้าไปบริหารจัดการในการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นเรื่องธรรมดาที่สื่อมวลชนซึ่งมีหน้าที่ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ข้อเท็จจริงเพื่อประโยชน์สาธารณะจะตรวจสอบและนำเสนอข้อเท็จจริงดังกล่าว
โดยเฉพาะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งมีหน้าที่จัดการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรมให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายต้องเข้าไปตรวจสอบนี้ อย่าอ้างแต่เพียงว่าไม่มีผู้ร้องเรียน เพราะเท่ากับปัดความรับผิดชอบอย่างสิ้นเชิง
3.ตามรัฐธรรมนญและ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาการเมืองเพื่อสนับสนุนพรรคการเมืองต่างๆ ซึ่งเป็นเงินภาษีประชาชน ปรากฏว่านับตั้งแต่ปี 2542 จนถึง 2549 พรรคการเมืองต่างๆ เบิกจ่ายเงินจากกองทุนนี้ไปแล้วกว่า 1,542 ล้านบาทโดยพรรคไทยรักไทยรักเบิกไปมากที่สุดกว่า 583 ล้านบาท ตามด้วยพรรคประชาธิปัตย์กว่า 392 ล้านบาท ฯลฯ
เมื่อพรรคการเมืองใช้เงินจากภาษีของประชาชนไปดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ประชาชนยิ่งมีสิทธิรับรู้ความเป็นมาเป็นไปว่าพรรคการเมืองดังกล่าวมีการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญหรือไม่
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น พรรคการเมืองไม่ใช่สมบัติหรือบริษัทส่วนตัวของใครที่จะมาอ้างว่าความเคลื่อนไหวต่างๆ เป็นเรื่องส่วนตัวไม่ใช่เรื่องที่ประชาชนจะต้องรับรู้ ทั้งๆ ที่การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ