มงคลกิตติ์ อัดรัฐบาลปกปิดข้อมูล ทุจริตเอื้อประโยชน์ทุนใหญ่หลายโครงการ

ข่าวการเมือง Thursday February 17, 2022 16:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ อภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ถึงปัญหาโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกา (ASF) โดยกล่าวหา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ, นายจุรินทร์ ลักษณ์วิศิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ในฐานะกำกับกรมการค้าภายใน และนายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะกำกับดูแลกรมปศุสัตว์ ที่ร่วมทุจริตกักตุนหมู จนทำให้หมูแพง ส่งผลทำให้ราคาสินค้าแพงทั้งแผ่นดิน และทำให้ค่าครองชีพประชาชนสูงขึ้น

ซึ่งโรคอหิวาต์แอฟริกา รัฐบาลทราบเรื่องตั้งแต่ 9 เม.ย.62 แต่ทำไมกรมปศุสัตว์ถึงไม่มีการรายงานโรคอหิวาต์แอฟริกาตั้งแต่ปลายปี 62 จนถึงปัจจุบัน และอยากตั้งคำถามไปถึงนายประภัตร ทำไมถึงมีการปกปิดข้อมูล ทำให้การแก้ปัญหาต่างๆ เกิดความล่าช้า หรือพยายามปกปิด เพราะเกรงว่าจะกระทบกับฟาร์มของเจ้าสัวใหญ่

นายมงคลกิตติ์ กล่าวถึงราคาสุกรที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น จากราคาขายปลีกถึงผู้บริโภค ช่วงพ.ย.-ม.ค.65 ราคาเพิ่มเป็น 42.8% และมีการบริโภคสุกร 3 เดือน รวม 4.5 ล้านตัว ตัวละ 100 กิโลกรัม ประชาชนเสียเงินเพิ่ม 3 หมื่นล้านบาท เจ้าสัวสุกรเจ้าใหญ่ นักการเมืองที่เลี้ยงสุกรขาใหญ่ในแต่ละจังหวัดฟันกำไร 42 บาท/กก. กว่า 18,900 ล้านบาท ถือเป็นเงินทุจริตนอกงบประมาณจากประชาชน ซึ่งคนที่ได้ประโยชน์ คือ เจ้าสัวฟาร์มสุกร นักการเมืองที่มีฟาร์มสุกรใหญ่ และนักการเมืองใหญ่ ตัวอักษรย่อ ต. จ. ป. และข้าราชการประจำ อักษรย่อ ว. ส.

นายมงคลกิตติ์ ได้ตั้งคำถามไปถึงนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ ซึ่งทราบอยู่แล้วว่า ผลผลิตสุกรได้รับผลกระทบจากโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกา และจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ และจากการที่ผู้บริโภคน้อยลง เกษตรกรรายย่อยต้องเลิกกิจการ ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ความต้องการบริโภคสุกรยังทรงตัว ทำไมถึงไม่มีการวางแผนใดๆ

พร้อมตั้งคำถามว่า เหตุใดรัฐบาลถึงไม่มีการออกมาตรการมาแก้ปัญหาต้นทุนราคาอาหารสัตว์เพิ่ม และเหตุใดรัฐบาลไม่มีการออกมาตรการหรือเงินทุนมาช่วยผู้เลี้ยงสุกร

อย่างไรก็ตาม เมื่อราคาสุกรเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เนื้อไก่ เนื้อเป็ด มีราคาสูงขึ้น รวมไปถึงสินค้าอื่นๆ ปรับสูงขึ้น แต่กรมการค้าภายในกลับทำงานล่าช้า ส่งผลให้ค่าครองชีพประชาชนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งถือเป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน

นายมงคลกิตติ์ ชี้ให้เห็นว่า จากปัญหาโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกา พบการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งในส่วนของกรมปศุสัตว์ที่ออกมายอมรับช้าว่า ฟาร์มใหญ่ติดโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกาเกือบทั้งหมด ถือเป็นการชะลอปัญหา เพราะเกรงว่าเจ้าของฟาร์มสุกรรายใหญ่จะเสียประโยชน์หรือไม่ และกรมการค้าภายใน ในฐานะควบคุมราคาสุกร ทำไมถึงควบคุมราคาสุกรได้ล่าช้า

นอกจากนี้ นายมงคลกิตติ์ อภิปรายกล่าวหานายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ถึงปัญหาราคาน้ำมันแพงและค่าแรงถูกว่า ปัจจุบันไทยใช้น้ำมันอยู่ที่ประมาณ 106.88 ล้านลิตร/วัน ซึ่งรัฐบาลเก็บภาษีสรรพสามิต เฉลี่ยลิตรละ 6 บาท (ไม่รวม Vat 7%) รัฐบาลรีดภาษีสรรพสามิตจากประชาชนถึง 203,860 ล้านบาท/ปี การที่ ครม.มีมติลดเก็บภาษีสรรพสามิต ลิตรละ 3 บาทเป็นเวลา 3 เดือน เป็นเพียงไปชดเชยราคากองทุนน้ำมัน ซึ่งคนไทยยังคงใช้น้ำมันแพงเหมือนเดิม

จากปัญหาเรื่องราคาน้ำมัน ส่งผลให้คนไทยทุกคนได้รับความเดือดร้อน ยกเว้นนายกรัฐมนตรีเพราะมีสวัสดิการมากกว่าประชาชน และราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่อค่าขนส่ง ค่าเดินทาง ราคาสินค้า แต่สิ่งที่ไม่เพิ่มขึ้น คือ ค่าแรงขั้นต่ำ รวมไปถึงเงินเดือนข้าราชการไม่มีการปรับขึ้น

"นายกรัฐมนตรีอยู่ไป 7 ปี 9 เดือน ได้พิสูจน์แล้วว่า ท่านอยู่ไปก็ไม่เกิดประโยชน์กับคนไทย อยู่ไปก็เปลืองภาษี อยู่ไปก็แก้ปัญหาอะไรไม่ได้ อยู่ไปก็เป็นตัวถ่วงความเจริญของประเทศ ผมยังคิดไม่ออกว่า ท่านเคยทำประโยชน์อะไรบ้าง นึกไม่ออกจริงๆ" นายมงคลกิตติ์ กล่าว

นายมงคงกิตติ์ กล่าวถึงการประมูลดาวเทียมไทยคม 4 ไทยคม 6 ที่หมดสัมปทานไปเมื่อ 10 ก.ย. 64 และได้ส่งมอบการบริหารจัดการให้ บมจ. โทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ได้ดำเนินการต่อ และทราบว่า บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ ได้จ้าง บมจ.ไทยคม (THCOM) มาบริหารจัดการดาวเทียมไทยคม 4 ไทยคม 6 โดยไม่มีการประมูล เข้าข่ายการการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ฮั้วประมูลหรือไม่ และทราบมาว่า นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทที่รับจ้างบริหารจริงหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ จะมีการนำไปอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติอีกครั้ง

นอกจากนี้ การจัดซื้อจัดจ้างวิทยุสื่อสารของกระทรวงมหาดไทย 4,300 ล้านบาท จำนวน 75,986 เครื่อง ซึ่งเฉลี่ยตกเครื่องละ 57,000 บาท บวกกับอุปกรณ์มาตรฐานอีก 45 ชุด ปัจจุบันคนที่ได้รับสัมปทานจากกระทรวงมหาดไทยคือ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติที่ประมูลได้ไป และนำไปประมูลต่อซึ่งมี บมจ.สามารถดิจิตอล (SDC) ชนะการประมูล และอยู่ระหว่างการส่งมอบอุปกรณ์ภายใน 120 วัน ซึ่งอาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐปี 42 หรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ