เลือกตั้งกทม.: ชัชชาติ โชว์วิสัยทัศน์นโยบายสิทธิมนุษยชน สร้างเมืองน่าอยู่ ดูแลทุกคนเท่าเทียม

ข่าวการเมือง Wednesday May 4, 2022 12:00 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 8 ในนามอิสระ กล่าวในเวทีเปิดแนวคิดผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. กับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน หัวข้อ "กรุงเทพฯ เมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" ว่า นโยบายด้านสิทธิมนุษยชนนั้น ตรงกับวิสัยทัศน์ของตนเอง คือ ทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน และเน้นเรื่องการทำเส้นเลือดฝอยที่เข้าถึงชุมชนและคนตัวเล็ก ซึ่งถือเป็นปัญหาสิทธิมนุษยชน

นายชัชชาติ ยืนยันว่า เสรีภาพการชุมนุมป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ซึ่งต้องมีการอำนวยความสะดวกเต็มที่ ต้องมีการเก็บขยะ น้ำดื่ม ห้องน้ำสาธารณะ ความปลอดภัย แพทย์ฉุกเฉิน กล้องวงจรปิดเพื่อให้เกิดความปลอดภัย จำเป็นต้องดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

ทั้งนี้ กทม.ต้องเตรียมพื้นที่สาธารณะให้มีการชุมนุมได้ ตามมาตรา 9 ของพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ หน่วยงานราชการสามารถกำหนดพื้นที่สาธารณะเพื่อการชุมนุมได้ โดยผู้ชุมนุมไม่ต้องขออนุญาตตำรวจตามหมวด 2 เช่น ลานคนเมือง สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น หรือสวนสาธารณะในทุกๆเขตได้

สำหรับปัญหาวิกฤตโควิด-19 นายชัชชาติ กล่าวว่า หลังจากโควิด กรุงเทพฯ ต้องไม่เหมือนเดิม ซึ่งเห็นปัญหาคือ การไม่มีระบบการจัดการ ไม่ทั่วถึง และไม่ฟังประชาชน ซึ่งกทม. ต้องเน้นศูนย์สาธารณสุขที่อยู่ใกล้ชิดกับคนให้มีคุณภาพและครอบคลุม ส่งแพทย์ลงไปดูแลที่เตียง ขยายการดูแลสาธารณสุขไปถึงบ้านของผู้ป่วยติดเตียง พร้อมทั้งเพิ่มบุคลากรทำงานสาธารณสุขในพื้นที่เส้นเลือดฝอย

ส่วนปัญหาคนไร้บ้าน นายชัชชาติ กล่าวว่า จากที่ได้วิ่งแถวถนนสุขุมวิท พบว่า มีทั้งคนไร้บ้าน คนเร่ร่อน ผู้ป่วยจิตเวช คนขายบริการ ซึ่งหัวใจการแก้ไขปัญหาคือ ไร้บ้านแต่ต้องไม่ไร้สิทธิ ไร้โอกาส กทม. ต้องมีการลงทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทยให้คนเหล่านี้มีสิทธิเข้าถึงให้เข้าสู่ระบบ และมีสวัสดิการพื้นฐาน พร้อมทั้งต้องมีศูนย์ช่วยดูแลคนไร้บ้าน เพื่อพักช่วงกลางคืนและทำความสะอาดร่างกาย

นายชัชชาติ กล่าวถึง ความเจริญเข้ามาในเมืองดั้งเดิมว่า หัวใจสำคัญคืออย่าปล่อยให้เมืองพังแล้วค่อยกังวล ต้องมีการสร้างอัตลักษณ์ของเมืองแต่ต้น เพื่อมีจุดแข็งแต่ละย่าน สร้างคุณค่าแต่ละย่าน ไม่ให้คนหนีออกหมดจนนายทุนเข้ามากว้านซื้อที่ดิน ต้องทำให้ชุมชนมีตัวตน สร้างระบบให้เข้มแข็ง มีระบบประชาสังคม ทำให้ประชาพิจารณ์ไม่ให้เป็นแค่พิธีกรรม และกระบวนการผังเมืองและการประเมินสิ่งแวดล้อม (EIA) ต้องเป็นธรรม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ